World News

‘ปวิน-วันเฉลิม-บอส’ เรื่องเด่น สหรัฐมอง ‘สิทธิมนุษยชน’ ไทย

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยแพร่รายงานทบทวนสถานการณ์ “สิทธิมนุษยชน” ทั่วโลกประจำปี 2563  ระบุ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกอย่างกว้างขวางเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่เรื่องราวของ “ปวิน-วันเฉลิม-บอส อยู่วิทยา” กลายมาเป็นไฮไลท์เด่น เรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย 

เมื่อเร็ว ๆ  นี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยแพร่รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2563  และกล่าวถึง สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย โดยมีเรื่องราวของ “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์” นักวิชาการ และนักกิจกรรมทางการเมือง “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ที่ถูกลักพาตัวในกรุงพนมเปญ กัมพูชา และ “วรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา” กรณีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต และคดียืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเรื่องเด่น ที่ถูกหยิบขึ้นมาอธิบายถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทย

สิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง ความพยายามของรัฐบาลไทย ที่ต้องการให้เฟซบุ๊กปิดเพจ “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐ จัดหมวดหมู่ในรายงานฉบับนี้ เเยกตามประเภทเช่น เสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็น การเลือกตั้ง การหายสาบสูญของบุคคล และคอร์รัปชั่น ตามข้อมูลของหน่วยงานเก็บข้อมูลด้านกฎหมาย กลุ่มสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคสังคมอื่น ๆ

รายงานฉบับล่าสุดนี้ ได้กล่าวถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนหลายกรณีในประเทศไทย โดยยกตัวอย่างของการ จับกุมตัวโดยพลการ สวัสดิภาพของนักโทษการเมือง กฎรุนแรง ซึ่งขัดขวางเสรีภาพในการเเสดงความคิดเห็น เเละเสรีภาพสื่อ รวมถึงการบล็อกเว็บไซต์

กระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ระบุว่า แม้เจ้าหน้าที่ไทย จะดำเนินการสอบสวน และลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ปัญหาเรื่องการกระทำผิดโดยเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีการรับโทษ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในไทย โดยเฉพาะในจังหวดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งเกือบทุกอำเภอของจังหวัดเหล่านี้ อยู่ภายใต้มการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

รายงานบอกด้วยว่า กลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำร้ายเจ้าหน้าที่ความมั่นคง และประชาชนโดยทั่วไปด้วย

ตัวอย่างบางส่วนของกรณีที่ถูกกล่าวถึงในรายงาน “2020 Country Reports on Human Rights Practices: Thailand”  ที่เป็นข่าวดังในประเทศไทยก่อนหน้านี้ประกอบด้วย

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ร้องเรียนต่อตำรวจเพื่อให้ดำเนินการต่อ นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการ และผู้ลี้ภัยทางการเมืองชื่อดัง จากข้อหาสร้างเฟซบุ๊กเพจ “รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส” เมื่อเดือนสิงหาคม

การหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย ที่ถูกลักพาตัวในกรุงพนมเปญ กัมพูชา เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กล่าวไว้ในรายงานว่า ตามข้อมูลกลุ่มเอ็นจีโอหลายหน่วยงาน มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยอย่างน้อย 8 คน หายตัวไปในลักษณะเดียวกัน ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเจ็ดปีก่อน

สิทธิมนุษยชน

ในประเด็นปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทย รายงานฉบับนี้ยกตัวอย่างถึง การดำเนินการของตำรวจและอัยการเมื่อปีที่แล้ว ในคดี นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ขับรถเฟอร์รารี ชนเจ้าหน้าตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่มิได้เป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทย แต่ถูกระบุไว้ในรายงานสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่เจ้าหน้าที่ส่งตัวนักเขียนออนไลน์ชาวเวียดนาม เจือง ดุ่ย นัท กลับประเทศ หลังจากที่เขาขอลี้ภัยในไทย  ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เขาถูกศาลเวียดนามตัดสินจำคุก 10 ปีในข้อกล่าวหา “ใช้อำนาจในหน้าที่ในทางที่ผิด”

สำหรับสถิติตัวเลข เรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของไทย ในรายงานฉบับนี้ รวมถึงเรื่อง 

  • ผู้ประท้วง 175 รายในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหา จากการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล
  • ผู้ประท้วงมากกว่า 30 คน รวมถึง นักเรียนมัธยมปลายวัย 16 ปี ถูกหมายเรียกรับฟังข้อกล่าวหาทำผิดมาตรา 112
  • แกนนำการประท้วงมากกว่า 10 คน ถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 2 ข้อหาว่า ทำผิดมาตรา 112​
  • ผู้ประท้วงอย่างน้อย 45 คน รวมถึงนักเรียนมัธยมปลายอายุ 17 ปี ถูกกล่าวหายุยงปลุกปั่น

“สตรี-เด็ก” เหยื่อความรุนแรง

สำหรับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกนั้น  นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐ ชี้ว่า สตรีและเด็ก เสี่ยงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศสภาพ และความรุนแรงในครัวเรือนมากขึ้น จากมาตรการปิดเมือง และการขาดความคุ้มครองทางสังคม ที่เคยมีในภาวะปกติ

นอกจากนี้ กลุ่มคนชายขอบในสังคมอื่น ๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังเผชิญกับ “ภาวะอ่อนแอเป็นพิเศษ” ด้วย

รายงานดังกล่าวได้รับมอบหมายจากรัฐสภาสหรัฐ ให้ประเมินสภาพสิทธิมนุษยชน ในประเทศที่สหรัฐให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ ไม่ได้วิเคราะห์สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสหรัฐเอง เช่น เหตุการณ์ประท้วงต่อต้าน การใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อชนกลุ่มน้อย หรือข้อกล่าวหาของอดีตประธาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ มีปัญหา ทำให้เขาแพ้เลือกตั้งต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน

นายบลิงเคน ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบัน ให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน และเป็นหัวใจของนโยบายต่างประเทศ และยอมรับว่า สหรัฐต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศด้วยเช่นกัน ในฐานะที่สหรัฐเองก็พยายาม “บรรลุอุดมการณ์และหลักการ” ของตน

สิทธิมนุษยชน
แอนโทนี บลิงเคน

วิจารณ์ “จีน” ละเมิด สิทธิมนุษยชน อย่างหนัก 

สำหรับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในต่างประเทศนั้น นายบลิงเคน ระบุว่า ผู้คนในหลายประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาสิทธิมนุษยชน เช่น รัฐบาลจีนที่ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวมุสลิอุยกูร์ และก่อ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” เช่น การจำคุก ทรมาน บังคับทำหมัน และลงโทษชาวอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา และชาติพันธุ์อื่น ๆ

รายงานบอกว่า จีนเดินหน้าจำคุกพลเมือง ด้วยเหตุผลทางการเมือง และศาสนา โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ประเมินว่า นักโทษทางการเมืองหลายหมื่นคน ยังคงถูกจำคุกในเรือนจำ และสถานกักกัน โดยรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เข้าถึงนักโทษการเมืองเหล่านี้ได้

ทางด้านซีเรียนั้น บลิงเคนระบุว่า การปกครองของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด ยังคงกดขี่เสรีภาพประชาชนมา 10 ปีแล้ว ส่วนสงครามในเยเมน ก็ทำให้ประชาชนหลายล้านคน ต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมถึงขีดสุด โดยพวกเขาไม่สามารถ แม้แต่จะใช้สิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการได้

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ระบุต่อว่า รัฐบาลรัสเซียยังคงมุ่งเป้าต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง และผู้ประท้วงโดยสันติ ในขณะที่การทุจริตในวงการราชการยังคงอยู่

สำหรับประเทศอื่น ๆ  ที่รายงานพูดถึง อาทิ

  • นิการากัว

รัฐบาลของประธานาธิบดีแดเนียล ออร์เทกา ก็ผ่านกฎหมายที่จำกัดการทำงานของกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน กลุ่มประชาสังคม และสื่ออิสระมากขึ้นเรื่อยๆ และนับจนถึงเดือนธันวาคม

รัฐบาลนิการากัวยังคงคุมขังนักโทษการเมือง 106 คน โดยมี 9 คนถูกขังเดี่ยว โดยนักโทษเหล่านี้ถูกคุมขังรวมกับอาชญากรอื่น ๆ รายงานระบุว่า กลุ่มสิทธิมนุษยชนในนิการากัวรายงานว่า ทางเรือนจำของนิการากัว ยั่วยุให้นักโทษทั่วไป และนักโทษการเมืองทะเลาะกัน จนมีการใช้ความรุนแรง

มีรายงานหลายฉบับระบุว่า นักโทษการเมืองเหล่านี้ถูกทุบตี คุกคาม ถูกขังเดี่ยวหลายสัปดาห์ และทุกข์ทรมาน จากการถ่ายเทอากาศที่ไม่ดี น้ำ และอาหารที่เป็นพิษ และปนเปื้อน

สิทธิมนุษยชน

  • คิวบา

รัฐบาลยังคงใช้มาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก การเข้าสังคม เสรีภาพด้านศาสนา ความเชื่อ และด้านการเคลื่อนไหว

  • ซิมบับเว

รัฐบาลใช้ความรนุแรงต่อนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และภาคแรงงาน รวมถึงผู้นำฝ่ายค้าน ส่วนบุคคลรักร่วมเพศ และบุคคลข้ามเพศ ก็ยังคงตกเป็นเป้าของความรุนแรง การกีดกัน และการคุกคามจากการใช้กฎหมาย และความเชื่อ ที่ต่อต้านการร่วมเพศของบุคคลเพศเดียวกัน

  • เติร์กเมนิสถาน

ประชาชนที่วิจารณ์รัฐบาล อาจถูกจับด้วยข้อหากบฎ และยังไม่ทราบว่านักโทษการเมืองกว่า 100 คนขณะนี้อยู่ที่ใด

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ  บอกด้วยว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก โดยรัฐบาลบางประเทศ ใช้โรคระบาดเป็นข้ออ้างเพื่อจำกัดสิทธิประชาชน และปกครองด้วยแนวทางอำนาจนิยม อย่างเข้มข้นขึ้น

เขาบอกด้วยว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ และการละเมิดอื่น ๆ สร้างความเสียหายข้ามพรมแดน ของประเทศนั้น ๆ  โดยการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตามทำให้เกิดความรู้สึกว่า การกระทำผิดโดยไม่ต้องรับผิดชอบนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่

ที่มา : VOA

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo