World News

‘สงครามการค้า’ ต้นเหตุความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินโลกพุ่ง

ไอเอ็มเอฟเตือน ความเสี่ยงระบบการเงินโลกทะยานสูงขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และอาจพุ่งขึ้นมากกว่าเดิม หากแรงกดดันที่มีต่อตลาดเกิดใหม่ เพิ่มความรุนแรงขึ้น หรือความสัมพันธ์ในการค้าโลกถดถอยลง

imf

รายงานเสถียรภาพการเงินโลก ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยออกมาวันนี้ (10 ต.ค.) เตือนด้วยว่า ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง อาจทำให้ความมั่งคั่งของสหรัฐหายไปราว 5 ล้านล้านดอลลาร์ สร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับสถานการณ์การคลังของรัฐบาลสหรัฐ มากกว่าจำนวนหนี้ และการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น

ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมกฎระเบียบช่วยทำให้ระบบธนาคารแข็งแกร่งขึ้นตลอดทศวรรษที่ผ่านมา นับแต่เกิดวิกฤติการเงินโลกปี 2551 แต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างมาก กลับทำให้เกิดภาวะไร้เสถียรภาพมากขึ้น

“ความเสี่ยงในระยะใกล้ของเสถียรภาพทางการเงินโลกเพิ่มขึ้นมาในระดับหนึ่ง แต่โดยรวมแล้ว ดูเหมือนตลาดยังพอใจกับความเสี่ยงที่เงื่อนไขการเงินจะมีความเข้มงวดขึ้นอย่างมาก”

นายโทไบแอส เอเดรียน ผู้อำนวยการตลาดเงินทุนไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ความเป็นไปได้ที่จะแรงช็อกต่อระบบการเงิน อาจมาในหลายรูปแบบ อาทิ อัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินคาด ที่อาจจุดชนวนให้ดอกเบี้ยพุ่งขึ้นอย่างมาก หรือ การออกจากสหภาพยุโรปอย่าง “ไม่เรียบร้อย” ของอังกฤษ

แต่ความรุนแรงของผลกระทบจากความตื่นตระหนกจากปัจจัยดังกล่าวนั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความผันผวนต่างๆ รวมถึง การเพิ่มขึ้นของระดับหนี้นอกภาคการเงิน ที่ปัจจุบันสูงเกิน 250% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มาตรฐานการค้ำประกันที่ลดน้อยลงนอกภาคธนาคาร และราคาสินทรัพย์ที่อาจดิ่งลงอย่างหนัก

“เรื่องนี้เป็นการตอบสนองกันระหว่างภาวะไร้สเถียรภาพที่ก่อตัวขึ้น และราคาสินทรัพย์ที่ลดลง ที่อาจทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจมหภาค” นายโทไบแอส กล่าว

ไอเอ็มเอฟ ยังแสดงความวิตกถึงระดับหนี้ในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลกรุงปักกิ่งจะดำเนินมาตรการหลายอย่าง เพื่อสกัดการขยายตัวของระดับหนี้แล้วก็ตาม

รายงานบอกด้วยว่า เศรษฐกิจขนาดใหญ่บางประเทศ มีการขยายตัวแตะระดับสูงสุดแล้ว ใสนขณะที่ช่องว่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ ขยายตัวกว้างมากขึ้น

imf1

อย่างไรก็ดี บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ยังมองว่า โอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจขึ้นในสหรัฐมีสูงขึ้น จากหลายปัจจัยด้วยกัน รวมถึง ความตึงเครียดทางการค้า และดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากรายได้ภาษี และพันธบัตรแล้ว ดุลบัญชีของรัฐบาลสหรัฐยังรวมถึงสินทรัพย์ และตราสารหนี้อื่นๆ อีกจำนวนมาก อาทิ รัฐวิสาหกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และที่ดินที่รัฐครอบครองอยู่ นอกเหนือ จากเงินสดที่ใช้จ่ายบำนาญข้าราชการ

ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ประเทศต่างๆ ที่ใช้มาตรการวงกว้างต่อนโยบายการเงินของตัวเอง อาจมีต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกลง และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความยืดหยุ่นต่อขาลงของเศรษฐกิจ

แต่หลังจากทศวรรษแห่งการฟื้นตัวแล้ว ความมั่งคั่งสุทธิของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า 7 ชาติ (จี7) เกือบทั้งหมดกลับอยู่ในด้านลบ

ขณะที่ความมั่งคั่งสุทธิของจีน ก็ลดลงมาเหลือเพียง 8% ของจีดีพี เพราะการกู้ยืมนอกงบประมาณของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และผลคตอบแทนที่ย่ำแแย่ในธุรกิจที่รัฐดำเนินกิจการ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight