ธนาคารกลางจีน ประกาศแผนลดเพดานเงินสด ที่ธนาคารต้องมีสำรองไว้ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน และกระตุ้นการเติบโต ท่ามกลางความวิตกถึงความเป็นไปได้ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจะโดนฉุดจากความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ ที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น
การลดเพดานเงินสำรองดังกล่าว ซึ่งธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ดำเนินการมาเป็นรอบที่ 4 แล้วในปีนี้ ยังเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลจีนได้ให้คำมั่นถึงการเร่งแผนการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวมากขึ้น และการขยายตัวด้านการลงทุนลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
พีบีโอซี ระบุว่า จะมีการลดเพดานทุนสำรองลงมา 1% จากปัจจุบันที่กำหนดให้ธนาคารขนาดใหญ่สำรองไว้ในสัดส่วน 15.5% และธนาคารขนาดเล็กที่ 13.5% โดยจะมีผลบังคับในวันที่ 15 ตุลาคมนี้
ธนาคารกลางยังจะอัดฉีดเงินสดจำนวน 750,000 ล้านหยวน เข้าสู่ระบบธนาคาร ซึ่งเมื่อรวมกับเงินสดที่ได้จากการลดเพดานทุนสำรองแล้ว จะทำให้เกิดสภาพคล่องโดยรวมที่ 1.2 ล้านล้านหยวน โดยที่ 450,000 ล้านหยวนจากเงินจำนวนนี้ จะไปชดเชยกับเงินกู้ระยะกลาง (เอ็มแอลเอฟ) ที่ครบกำหนดชำระคืน
นายจาง ยี่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทจงไห่ เฉิงหรง แคปิตัล แมเนจเมนท์ แสดงความเห็นว่า การตัดสินใจลดเพดานเงินสำรองดังกล่าว สะท้อนถึงความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางจีนอาจจะกังวลถึงผลกระทบจาก “แรงช็อคภายนอก” ที่มีต่อตลาด อาทิ การกล่าวสุนทรพจน์ของนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่กล่าวหาจีนว่ามีความพยายามที่จะโค่นล้มประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ก่อนถึงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนนี้ และดำเนินการทางทหารในทะเลจีนใต้อย่างบ้าบิ่น
ขณะที่นายซู่ ฮงไค่ รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากศูนย์จีนเพื่อการแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กลุ่มคลังสมองของจีน แสดงความเห็นว่า การลดเพดานทุนสำรองดังกล่าว เกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสมอย่างมาก และมีขนาดใหญ่มากพอที่จะช่วยหนุนความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ
“ผลกระทบจากสงครามการค้าที่มีต่อเศรษฐกิจ กำลังแสดงให้เห็นแล้ว ซึ่งตอนนี้ยังมีพื้นที่ให้ลดเพดานเงินทุนสำรองลงมาอีก และผมคาดว่า จะมีการลดลงอีก 1% ภายในสิ้นปีนี้”
พีบีโอซีบอกด้วยว่า จะเดินหน้าดำเนินมาตรการที่จำเป็น เพื่อสร้างเสถียรภาพตลาด ควบคู่ไปกับการรักษานโยบายทางการเงินที่รอบคอบ และเป็นกลางเอาไว้