World News

จีนนำก่อสร้างตึกระฟ้าโลกพุ่ง 60%

ยอดตึกระฟ้าปี 2561 พุ่ง 60% จีนนำโด่งสร้างตึกสูงมากสุดในโลก ขณะอาเซียน และตะวันออกกลาง ติดกลุ่มผู้ก่อสร้างรายใหญ่

ตึกระฟ้า

ข้อมูลที่สภาตึกสูง และที่อยู่อาศัยในเมือง (ซีทีบียูเอช) รวบรวมไว้ แสดงให้เห็นว่า โลกกำลังจะเต็มไปด้วยตึกระฟ้า ด้วยจำนวนตึกราว 230 แห่ง ที่มีความสูงอย่างน้อย 200 เมตร มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 60%

ในจำนวนตึกสูงดังกล่าวนั้น มีการก่อสร้างอยู่ในจีนมากสุด คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ซึ่งข้อมูลชี้ว่า เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของเอเชีย และประชากรคนหนุ่มสาว เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้จำนวนตึกระฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของตึกที่มีความสูงเป็นพิเศษไม่ต่ำกว่า 40 ชั้นเหล่านี้ ที่มีทั้งอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรม และอื่นๆ นั้น ทำให้เกิดความกังวลถึงความเสี่ยงพื้นฐาน ที่ผู้เชี่ยวชาญบางราย คาดการณ์ว่า จะเกิดการชะลอตัวภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน

ตัวเลขดังกล่าว จะส่งผลให้จำนวนตึกที่มีความสูงมากเป็นพิเศษทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่มากกว่า 1,500 แห่ง ภายในสิ้นปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากปี 2551 หลังจากการล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ที่จุดชนวนให้เกิดวิกฤติการเงินโลก

จีนนำโด่งสร้างตึกระฟ้า

จีนเป็นผู้นำในภาวะเฟื่องฟูที่เกิดขึ้น โดยในปีนี้ จีนมีตึกระฟ้าที่มีความสูงมากเป็นพิเศษ กำลังจะก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 130 ตึก เพิ่มขึ้น 70% จากเมื่อปีที่แล้ว

การก่อสร้างตึกเหล่านี้ในจีนแพร่กระจายอยู่ในเมือง ไล่ตั้งแต่เมืองใหญ่ๆ อย่าง กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง ไปยังเมืองข้างเคียง รวมถึง เมืองต่างๆ ในพื้นที่ตอนในของประเทศด้วย

ตึกระฟ้า

ในจำนวนตึกสูงสุด 10 ตึกของโลกที่จะสร้างเสร็จในปีนี้ อยู่ที่จีนถึง 9 แห่ง โดยตึกที่สูงที่สุด คือ ตึกไชน่า ซุน ความสูง 528 เมตร ส่วนตึกที่มีความสูงน้อยสุดมีความสูงที่ 343 เมตร

นอกจากจีนแล้ว เอเชียยังมีตึกระฟ้าความสูงมากเป็นพิเศษ ที่กำหนดสร้างแล้วเสร็จในปีนี้อีกเกือบ 40 แห่ง เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อปีที่แล้ว

หลายเมืองในเอเชีย รวมถึง กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย กรุงไทเป ไต้หวัน และกรุงเทพมหานคร ต่างมีการก่อสร้างตึกสูงระฟ้าเพิ่มขึ้น ที่มุมไบ และเมืองอื่นๆ ของอินเดีย มีตึกสูงเสียดฟ้าที่จะสร้างเสร็จในปีนี้อีก 3 แห่ง

สำหรับในตะวันออกกลางนั้น มีตึกระฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างร่วม 30 ตึก

เอเชียหนุนก่อสร้างพุ่ง

การเพิ่มขึ้นอย่างมากของการก่อสร้างตึกระฟ้า สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจอันแข็งแกร่งของเอเชีย ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า ตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้ จะขยายตัวราว 6.5% ในปี 2561 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ประเมินไว้ที่ 3.9% อย่างมาก

นับแต่ที่บริษัทต่างๆ เริ่มเข้ามาตั้งฐานการผลิตในเอเชีย จนภูมิภาคนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงงานโลก” ก็ทำให้ค่าแรงท้องถิ่นเพิ่มสูงขึ้น และหนุนความต้องการ

นอกจากนี้ ประชากรในเอเชียยังมีอายุค่อนข้างน้อย คนหนุ่มสาวจำนวนมากพากันหลั่งไหลเข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยหนุนความต้องการสำนักงาน และที่พักอาศัย

เสี่ยงชะลอตัว

กระนั้นก็ตาม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่คืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความกังวลตามมา เมื่อพิจารณาถึงจำนวนตึกระฟ้าที่มีกำหนดสร้างเสร็จในปีนี้ รวมถึง ตึกจำนวนมากที่การก่อสร้างล่าช้า ทั้งที่ควรจะก่อสร้างเสร็จตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

ตึกระฟ้า

การสร้างตึกสูงนั้นต้องใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ และใช้เวลานานหลายปี โดยก่อนหน้านี้ อัตราดอกเบี้ยต่ำในประเทศที่มีฐานะร่ำรวยกว่า ได้ทำให้เงินลงทุนไหลเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก และกลายเป็นปัจจัยหนุนการพัฒนาอาคารสูงในภูมิภาคนี้

แต่เอเชียมีความเสึ่ยงที่จะเกิดกระแสการลงทุนไหลออก หากสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักๆ
ส่วนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในแถบตะวันออกกลาง ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ และทรัพยากรอื่นๆ

สำหรับปี 2562 นั้น มีการประเมินว่า จะมีตึกสูงอย่างมากสร้างเสร็จราว 170 ตึก และมีแนวโน้มที่จะลดลงเหลือเพียง 80 ตึก หรือน้อยกว่านั้น ภายในปี 2563

จับตาฟองสบู่แดนมังกร

ความวิตกอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จีน จะมีบทบาทอย่างไรกับสถานการณ์นี้

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนถึงปี 2558 รัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้มีการก่อสร้างที่พักอาศัยจำนวนมาก ในความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ทะยานสูงขึ้น จนทำให้เกิดความไม่พอใจในสังคม ทำให้รัฐบาลปักกิ่งเข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวดมากขึ้น

ในปี 2560 มีตึกสูงหลายแห่งของจีนที่สร้างไม่เสร็จตามกำหนด ผลจากราคาวัสดุ และค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มที่จะซบเซาต่อเนื่องในปีนี้ โดยเฉพาะตามเมืองชั้นในของจีน ที่ตึกใหม่ๆ หลายแหล่ง ยังต้องดิ้่นรนหาผู้เช่าอยู่ ซึ่งหากการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นของรัฐบาล ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ร่วงลง ก็จะทำให้นักลงทุนลดความสนใจลงอย่างมาก

ที่มา: นิกเคอิ เอเชียน รีวิว

 

Avatar photo