World News

‘นักบินมาเลย์’ ยิ้มสู้ ผันตัวขายอาหาร หลังตกงานเซ่นพิษโควิด-19

“นักบิน มาเลย์” ไม่ยอมแพ้ ตกงาน เซ่นพิษโควิด-19 ในวัย 44 ปี ผันตัวสวมชุดกัปตันขายอาหาร หาเลี้ยงครอบครัวและลูกวัยเรียน

ณ ศูนย์อาหารแบบแผงลอยแห่งหนึ่งที่ชานเมืองของกรุงกัวลาลัมเปอร์ พ่อค้ารายหนึ่งที่กำลังทำอาหารและให้บริการลูกค้าดูโดดเด่นจากคนอื่นๆ ด้วยชุดเครื่องแบบกัปตันเครื่องบิน เขาสวมใส่ชุดนี้เป็นประจำมาตลอด 20 ปี แตกต่างก็เพียงผ้ากันเปื้อนสีแดงที่เพิ่มเข้ามา

นักบิน ตกงาน
แอซริน โมฮัมหมัด ซาวาวี ในชุดกัปตันเครื่องบินเสิร์ฟอาหารในร้านที่เมืองสุบังจายา ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

แอซริน โมฮัมหมัด ซาวาวี (Azrin Mohamad Zawawi) อดีตกัปตันวัย 44 ปี ผู้เป็นคุณพ่อของเด็กในวัยเรียน 4 คน ยิ้มรับและปรับตัวอย่างรวดเร็วหลังต้อง ตกงาน ในฐานะ นักบิน สายการบินมาลินโด ของมาเลเซีย แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจอันเกิดจากโควิด-19

“เราได้ยินข่าวว่าการระบาดจะยังไม่สิ้นสุดในเร็วๆ นี้ ซึ่งหมายความว่าอุตสาหกรรมการบินก็ไม่อาจฟื้นตัวในเร็ววันนี้เช่นกัน ดังนั้นผมต้องหันไปทำอะไรใหม่ๆ เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายของครอบครัว” เขากล่าว

งานของแอซรินเริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่ เขาตื่นมาเตรียมอาหารตอนเช้าและขายอาหารจนถึงค่ำ ทำยอดขายได้ 350-500 จานต่อวัน ช่วยผ่อนภาระทางการเงินและค่าครองชีพได้

นักบิน ตกงาน
แอซริน โมฮัมหมัด ซาวาวี ในชุดกัปตันเครื่องบินกำลังเตรียมอาหาร

แอซรินเริ่มต้นธุรกิจในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นเดือนเดียวกับที่เขาถูกปลดออกจากงาน นักบิน อย่างเป็นทางการเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยเขาได้เล็งเห็นปัญหาที่อุตสาหกรรมการบินกำลังเผชิญเพราะโรคโควิด-19

หลังจากปรึกษาเพื่อนและครอบครัว แอซรินก็ตัดสินใจทำอาหารมาเลย์ภาคเหนือออกมาขาย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยบะหมี่น้ำแบบต่างๆ และ “โรจัก” (rojak) สลัดผักและผลไม้แบบดั้งเดิม เนื่องจากแม่ยายของเขาเชี่ยวชาญเมนูเหล่านั้น และเขายังได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวในการดำเนินธุรกิจขนาดเล็กนี้ด้วย

แอซรินหันมาสร้างจุดเด่นให้ธุรกิจของตนด้วยการสวมเครื่องแบบกัปตันเครื่องบินขณะขายอาหาร ซึ่งเขากล่าวว่า ชุดนั้นทำให้เขาตระหนักถึงความรับผิดชอบ

“ก่อนหน้านี้ เรามีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของลูกเรือและผู้โดยสารในห้องโดยสารของเรา แต่ในอุตสาหกรรมอาหาร ผมต้องดูแลให้ลูกค้าได้ลิ้มลองอาหารอร่อย นั่นถือเป็นความรับผิดชอบเหมือนกัน เมื่อผมใส่เครื่องแบบ ผมก็รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ”

นักบิน ตกงาน
แอซริน โมฮัมหมัด ซาวาวี จัดแจงเครื่องแบบของเขาก่อนเริ่มงานที่ร้าน

รูปถ่ายของเขาที่เสิร์ฟอาหารในชุดกัปตันกลายเป็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย หลายคนยกย่องที่เขารู้จักปรับตัว และบางคนถึงกับเดินทางไปเยือนร้านของเขา “หลังจากออกสื่อก็มีคนมาที่ร้านมากขึ้น เรากำลังวางแผนจะขยายธุรกิจ” เขากล่าว

แอซรินยอมรับว่า คิดถึงวันเวลาที่ได้บินบนท้องฟ้า ซึ่งเขาสามารถเดินทางไปประเทศต่างๆ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน และหวังว่าตนจะได้กลับขึ้นไปบินอีกครั้งหลังการระบาดสงบลง

เขายังบอกว่าเคยขับเครื่องบินเช่าเหมาลำไปประเทศจีน และชื่นชอบอาหารจีนมาก แต่ตอนนี้ แอซรินกำลังมุ่งความสนใจไปที่ธุรกิจอาหารขนาดเล็กของเขา

“อย่าอายและคิดในแง่บวกเข้าไว้ สำหรับผม ผมมักจะมองไปข้างหน้า เหมือนเครื่องบิน เพราะกับเครื่องบินคุณจะไม่สามารถถอยหลังได้ คุณต้องบินไปข้างหน้า เช่นเดียวกับเวลาทำธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยากลำบาก คุณจะมองย้อนกลับไปไม่ได้” เขากล่าวเสริมพร้อมให้กำลังใจคนอื่นๆ “คุณยังมีความหวัง อย่างน้อยก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่าง ยังมีโอกาสอีกมากมายรอเราอยู่” เขาทิ้งท้าย

fig 24 01 2020 08 07 16

อุตสาหกรรมการบินที่ปักหัวดิ่งจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้บุคลากรจำนวนมากต้องตกงาน ว่างงานชั่วคราว หรือมีรายได้ลดลง หลายคนจึงต้องหันมาทำอาชีพอื่นเสริมที่มีรายได้น้อยกว่าระหว่างรอธุรกิจการบินฟื้นตัว หรือแม้กระทั่งผันตัวไปทำอาชีพอื่นแทน ซึ่งสถานการณ์นี้เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

ยกตัวอย่างเช่น กัปตัน มเหศักดิ์ วงษ์ปา อายุ 50 ปี ซึ่งเดิมเป็นกัปตันของสายการบินไทย แต่ไม่ได้บินตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จึงขอออกจาก Comfort Zone ใช้ทักษะการขับรถ ผันตัวมาขับแกร็บคาร์หารายได้เสริม

“ที่บ้านผมดีใจไปกับผมด้วย ที่กล้าหาญกับจริตตัวเอง หลุดออกมาจากเซฟโซน ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ผมมีกำลังใจที่จะขับแกร็บต่อไป เปฺ็นกำลังใจให้กับคนที่ยากลำบากในตอนนี้นะ ลงมือทำเลย อะไรที่ดีที่ทำเงินได้ ทำเลย อย่ามัวแต่คิดนานอย่างผม ก้าวออกจาก comfort zone แล้วลงมือกันเลยครับ” กัปตัน มเหศักดิ์โพสต์ถึงเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้มีการประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจการบินต้องหยุดชะงัก จะต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปีข้างหน้า หรืออาจจะถึงปี 2567 กว่าธุรกิจการบินจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง โดยปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับมาตรการของทางภาครัฐและการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ว่ารวดเร็วแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจการบินยังมีความต้องการบุคลากรอยู่ ซึ่งเชื่อว่าบุคลากรการบินในอนาคต ตัวอย่างเช่น นักบิน และอาชีพอื่นๆ จะไม่ได้ต้องการคนที่มีความรู้พื้นฐานด้านการบินในเฉพาะสาขาอาชีพเท่านั้น แต่ต้องมีพื้นฐานหลายๆ อย่างที่เรียกว่า Multi-skill

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo