World News

‘ดาวโจนส์’ พุ่งเกิน 500 จุด ขานรับ ‘โจ ไบเดน’ จ่อชนะเลือกตั้ง

 

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (5 พ.ย.) พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการคาดการณ์ของนักลงทุนถึงการคว้าชัยชนะของ “โจ ไบเดน” ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต ซึ่งมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐครั้งใหญ่

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 28,440.42 จุด ทะยานขึ้นมา 592.76 จุด หรือ 2.13% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,519.46 จุด พุ่งขึ้น 76.02 จุด หรือ 2.21% และดัชนีแนสแด็กที่ 11,860.77 จุด ทะยานขึ้น 269.99 จุด หรือ 2.33%

Stocks ๒๐๑๑๐๕

นายไบเดนยังคงมีคะแนนนำประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 264 เสียง ขณะที่ปธน.ทรัมป์ได้ 214 เสียง โดยนายไบเดนต้องการอีกเพียง 6 เสียงเท่านั้นก็จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือ 270 เสียงจากทั้งหมด 538 เสียง เพื่อชนะการเลือกตั้ง

หากทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ เขาจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก ที่พ่ายแพ้ในการลงชิงชัยประธานาธิบดีสมัยที่ 2 นับตั้งแต่ที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกัน พ่ายแพ้ต่อนายบิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครตในปี 2535

ดัชนีหุ้นทะยานสูงขึ้น ขานรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายไบเดน โดยพรรคเดโมแครตเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่พรรครีพับลิกันเสนอวงเงินเพียง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ในการออกมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

หากนายไบเดนคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากอย่างเบ็ดเสร็จในสภาคองเกรส ทั้งในวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ก็จะทำให้การขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากที่ถูกขัดขวางในสมัยของทรัมป์

แต่ถ้าหากพรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ก็จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นเช่นกัน โดยจะทำให้นโยบายการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ของนายไบเดนอาจไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส ทำให้บริษัทจดทะเบียน ยังคงได้รับประโยชน์จากนโยบายลดอัตราภาษีของรัฐบาลทรัมป์ต่อไป

นอกจากนี้ การถ่วงดุลอำนาจดังกล่าว จะช่วยลดโอกาสที่รัฐบาลของนายไบเดนจะทำการออกมาตรการควบคุมกฎระเบียบสถาบันการเงิน และบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีของสหรัฐ

ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน โดยลดลงสู่ระดับ 751,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว จากระดับ 758,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 732,000 ราย

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 6.9 ล้านรายในช่วงปลายเดือนมีนาคม โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ภาคธุรกิจปิดกิจการ และมีการปลดพนักงานจำนวนมาก

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนนี้ และการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันพรุ่งนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดว่า กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 530,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม ขณะที่อัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 7.7%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo