World News

ทะเลลึกก็ไม่รอด! วิจัยพบ ‘ไมโครพลาสติก’ 14 ล้านตันจมเกลื่อนพื้นมหาสมุทร

ทะเลลึกก็ไม่รอด! วิจัยพบ “ไมโครพลาสติก” อยู่ใต้มหาสมุทรมากกว่าบนผิวน้ำถึง 2 เท่า คาดปริมาณรวม 14 ล้านตัน

องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเครือจักรภพ (CSIRO) ของประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่รายงานคาดการณ์ฉบับแรกของโลกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปริมาณไมโครพลาสติกในทะเลลึก ซึ่งระบุว่าปัจจุบันพื้นมหาสมุทรมีเศษพลาสติกขนาดเล็กจิ๋วกระจายอยู่ราว 14 ล้านตัน

รายงานฉบับดังกล่าววิเคราะห์ตัวอย่างที่เรือดำน้ำหุ่นยนต์เก็บจากพื้นที่อันห่างไกลนอกชายฝั่งทางตอนใต้ของออสเตรเลีย โดยพบว่าปริมาณไมโครพลาสติกบนพื้นมหาสมุทรสูงกว่าบนผิวน้ำถึง 2 เท่า และปริมาณไมโครพลาสติกล่าสุดสูงกว่าการวิจัยในทะเลลึกครั้งก่อนถึง 25 เท่า

ไมโครพลาสติก ทะเล
กองขยะบนชายหาดเมืองดาการ์ของเซเนกัล

คณะนักวิจัยอ้างอิงข้อมูลจากผลการวิจัยขององค์การฯ และงานวิจัยทั่วโลก เพื่อประมาณการว่าปัจจุบันพื้นมหาสมุทรทั่วโลกมีไมโครพลาสติกอยู่ราว 14 ล้านตัน

“ขยะพลาสติกที่ทิ้งลงมหาสมุทรแตกเป็นชิ้นเล็กๆ และกลายเป็นไมโครพลาสติก” จัสติน บาร์เรตต์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศขององค์การฯ ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของงานวิจัยระบุในคำแถลงต่อสื่อมวลชน “งานวิจัยของเราระบุค่าประมาณการของปริมาณไมโครพลาสติกบนพื้นมหาสมุทรทั่วโลกเป็นครั้งแรก”

“แม้แต่ทะเลลึกก็ไม่รอดพ้นจากปัญหาขยะพลาสติก” บาร์เรตต์กล่าว “ผลลัพธ์ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกจมลงสู่พื้นมหาสมุทรจริง”

เดนิส ฮาร์เดสตี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์การวิจัยขององค์การฯ ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนงานวิจัยฉบับนี้ กล่าวว่าขยะพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับสากลแล้ว และผลการวิจัยนี้ชี้ว่ามนุษย์ต้องคิดหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพโดยด่วน

fig 06 10 2020 09 11 38

“งานวิจัยนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การจัดการขยะ สร้างความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม และเพิ่มโอกาสหยุดทิ้งพลาสติกและขยะอื่นๆ สู่สิ่งแวดล้อมของเรา” ฮาร์เดสตีกล่าว

“เราทุกคนสามารถช่วยลดปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว สนับสนุนอุตสาหกรรมการรีไซเคิลและกำจัดขยะของออสเตรเลีย และทิ้งขยะอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ขยะเหล่านั้นตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเรา”

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo