World News

‘เที่ยวด้วย คุมโรคด้วย’ ทางรอด ‘ท่องเที่ยวเอเชีย’ ยุคโควิด

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีจุดเริ่มต้นจากจีน ก่อนที่จะแพร่กระจายไปทั่วโลก จนทำให้ต้องมีการออกมาตรการควบคุม และป้องกัน ในความพยายามที่จะสกัดการระบาด สถานการณ์ที่พลิกโฉมหน้าของ “ท่องเที่ยวเอเชีย”  ไปตลอดกาล

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ทั่วเอเชียจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ประเทศต่างๆ ปิดพรมแดนของตัวเอง ไม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา ส่งผลให้ โรงแรมต่างๆ ในไทย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวรายใหญ่สุดอันดับ 4 ของโลก อยู่ในสภาพที่ซบเซาอย่างหนัก

ท่องเที่ยวเอเชีย

แต่ “บรูโน ฮูเบอร์” ผู้ที่ประกาศตัวว่าเป็นผู้จัดการโรงแรมที่มีความสุขที่สุดในกรุงเทพมหานคร มีแนวคิดที่แยบยลในการปรับ “เมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท” โรงแรมระดับ 4.5 ดาวให้เข้ากับยุคสมัยโควิด-19 และในปัจจุบัน โรงแรมหรูหราแห่งนี้ ก็เป็น 1 ในสถานที่กักตัว ซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลก

“คุณจะเรียกผมว่าผู้คุมเรือนจำก็ได้นะ” ฮูเบอร์กล่าวแบบขำๆ ก่อนจะอธิบายอย่างจริงจังว่า เป็นวิธีการเพียงอย่างเดียวในสถานการณ์เช่นนี้ ที่จะทำให้เขาสามารถจ้างพนักงานต่อ และทำให้โรงแรมอยู่รอดได้

แขกที่จะมาเข้ากักตัวในโรงแรมแห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษา และนักธุรกิจ ฐานะดี ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศนั้น จะต้องผ่านการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้ผลเป็นลบ 2 ครั้ง และเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 60,000 บาท สำหรับการเข้าพักเพียงลำพัง ในห้องแบบดีลักซ์นาน 2 สัปดาห์ โดยฮูเบอร์ ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ แขกที่เข้ากักตัวในโรงแรม ไม่มีใครที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเลย

ผู้จัดการโรงแรมรายนี้ มองบทบาทใหม่ของเขาว่า เป็นอีกหนึ่งอาชีพ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายในอุตสาหกรรมโรงแรม และบริการ 

ท่องเที่ยวเอเชีย
บรูโน ฮูเบอร์

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไทยได้กลายมาเป็นต้นแบบ ของหลายประเทศในเอเชีย ที่พยายามจำลองความสำเร็จในด้านการท่องเที่ยวของไทย ประเทศที่ใช้เวลา 30 ปีที่ผ่านมา พลิกตัวเองจากการเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวแบ็คแพคเกอร์ ให้กลายมาเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว 5 อันดับแรกของโลก และมีผู้เดินทางเข้าประเทศสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2562 เกือบ 40 ล้านคน เพราะ การท่องเที่ยว ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญอย่างหนึ่ง ในการสร้างงานของเอเชีย

สภาการท่องเที่ยว และเดินทางโลก ประเมินว่า ตำแหน่งงานใหม่ 1 ตำแหน่งในทุกๆ 3 ตำแหน่ง ที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีล่าสุดมานี้ เกิดจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจนี้ ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างทวีคูณ โดยเงินแต่ละดอลลาร์ ที่ถูกใช้ไปกับการท่องเที่ยวนั้น ช่วยสร้างการใช้จ่ายเพิ่มเติมมากขึ้นหลายเท่า จากการที่นักท่องเที่ยวไปช้อปปิ้งซื้อของที่ระลึก และรับประทานอาหาร ตามร้านต่างๆ

ท่องเที่ยวเอเชีย

แต่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ตกอยู่ในภาวะก้าวถอยหลังอย่างหนัก เช่น การเดินทางทางอากาศ ที่ลดลงจนแทบจะเป็นศูนย์ เนื่องจากการควบคุมการเดินทางอย่างเข้มงวดยังคงดำเนินต่อไป

ข้อมูลจาก เอสทีอาร์ ผู้ให้บริการข้อมูลอุตสาหกรรมโรงแรม ยังแสดงให้เห็นว่า ช่วง 1 ปี นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 – มิถุนายน 2563 อัตราการเข้าพักโรงแรมในเอเชียร่วงลง 43% เหลือ 38%

ส่วนสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา) ประเมินว่า จะต้องรอจนถึงปี 2567 กว่าที่การเดินทางทางอากาศจะฟื้นตัวขึ้นมาจากวิกฤติ การคาดการณ์ที่ผู้สังเกตการณ์หลายคน ชี้ว่า เป็นการมองในแง่ดีเกินไป

ปัจจุบัน การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจเอเชียเติบโตขึ้นอย่างทวีคูณนั้น กำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางทางตรงกันข้าม โดยรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่หายไปทุกๆ 1 ล้านดอลลาร์นั้น อาจทำให้รายได้ของประเทศต่างๆ ลดลงราว 2-3 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากผลกระทบที่ต่อเนื่อง ไปถึงภาคธุรกิจอื่น ที่จัดหาสินค้าและบริการที่นักท่องเที่ยวต้องการ

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) คาดการณ์ว่า การล่มสลายอย่างกะทันหันของการท่องเที่ยวทั่วโลกอาจทำให้เกิดความสูญเสียสูงสุดถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือเทียบเท่ากับ 4.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลก ถ้านำผลกระทบที่เกิดจากธุรกิจอื่น ที่เกี่ยวข้องมานับรวมด้วย และตัวเลขความสูญเสียนี้ จำกัดเฉพาะกรณีที่ขาลงของอุตสาหกรรมกินเวลาเพียง 12 เดือนเท่านั้น

ธุรกิจท่องเที่ยว ในเกือบทุกประเทศ พยายามรับมือกับพายุวิกฤตินี้ ด้วยการหาวิธีอยู่รอดของตัวเอง มาใช้ควบคู่กับการสนับสนุนจากรัฐบาล

อิมติแอซ มัคบิล บรรณาธิการ Travel Impact Newswire จดหมายข่าวด้านการท่องเที่ยว ชี้ว่า หากมองในด้านบวก จะพบว่า พื้นฐานของการท่องเที่ยว และการเดินทาง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างใด ผู้คนยังต้องการเดินทางอยู่ตลอดเวลา ธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน ร้านอาหาร โรงแรม สวนสนุก หรือศูนย์ประชุม ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งรายได้หลัก คนหนุ่มสาวต้องการงาน รัฐบาลก็ต้องการรายได้จากภาษี

เพียงแต่ว่า อุตสาหกรรมจำเป็นต้องประเมินสภาพตลาดแต่ละส่วน ประเมินสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ และเริ่มปรับตัวให้เข้ากับวิธีการใหม่ๆ ทั้งด้านการจัดจำหน่าย ทำการตลาด และเทคโนโลยีการชำระเงิน

ท่องเที่ยวเอเชีย

อย่างไรก็ตาม  สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีความชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในแบบที่ไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

ภาวะเศรษฐกิจที่ดิ่งลงอย่างหนัก ทำให้ประเทศที่เป็นจุดหมายทางการท่องเที่ยวจำนวนหนึ่ง จำเป็นต้องมานั่งคำนวณว่า จะสามารถยอมรับจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มากน้อยเท่าใด เพื่อแลกกับการที่จะเปิดประเทศรับนักเดินทางจากต่างประเทศ

แม้เวลาในการกักโรค 14 วัน จะทำให้นักเดินทางระหว่างประเทศไม่อยากที่จะเดินทางเข้ามา แต่ทางเลือกอื่นๆ ก็ดูมืดหม่นเช่นกัน เพราะมีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยว จะพากันหลีกหนีจากประเทศที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของเอเชีย ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่กำลังพยายามที่จะเดินหน้าใน 2 เป้าหมายที่เข้ากันยากมาก คือ การหลีกเลี่ยงการระบาดของเชื้อไวรัส ควบคู่ไปกับการยับยั้งภาวะล่มสลายทางเศรษฐกิจ จากการท่องเที่ยว ตัวทำรายได้หลักเพียงอย่างเดียวของเกาะ ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ

ภาวะเศรษฐกิจที่ใกล้ล่มสลาย ทำให้ วายัน คอสเตอร์ ผู้ว่าการเกาะบาหลี ประกาศเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงการค่อยๆ เปิดเกาะ โดยสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ที่เป็นคนบนเกาะก่อน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม จากนั้นในวันที่ 31 กรกฎาคม ทั้่งเกาะได้เปิดรับนักท่องเที่ยวจากพื้นที่ต่างๆ ในอินโดนีเซีย

การทดลองทำนองเดียวกับที่บาหลี กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วเอเชีย ซึ่ง เจสเปอร์ พาล์มควิสต์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิค ของเอสทีอาร์ บอกว่า การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในขณะนี้ คือ การฟูมฟัก และสร้างการเติบโตในการเดินทางภายในท้องถิ่น และระดับภูมิภาค

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo