World News

‘ไฟเซอร์’ ทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 พบอาการ ‘เหนื่อยล้า-ปวดหัว-หนาวสั่น’

“ไฟเซอร์” ทดลองฉีด วัคซีนโควิด-19 พบผลข้างเคียงเล็กน้อยถึงปลาย “เหนื่อยล้า-ปวดหัว-หนาวสั่น-มีไข้” หน่วยงานสหรัฐคาด เริ่มแจกจ่ายวัคซีนได้กลางปีหน้า

ไฟเซอร์ อิงก์ (Pfizer Inc.) บริษัทเภสัชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ รายงานว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เผชิญผลข้างเคียงจากวัคซีนในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง

ไฟเซอร์ ระบุว่า ผลข้างเคียงดังกล่าว ได้แก่ อาการเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ หนาวสั่น และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยผู้เข้าร่วมทดลองบางคนมีอาการไข้ ซึ่งบางรายมีไข้สูง

วัคซีนโควิด-19 ไฟเซอร์

บริษัทได้รับอาสาสมัครมากกว่า 29,000 คน เข้าร่วมการทดลองที่ต้องใช้อาสาสมัครรวม 44,000 คน เพื่อทดสอบ “วัคซีนบีเอ็นที162บี2 (BNT162b2)” สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ที่พัฒนาร่วมกับไบโอเอ็นเทค (BioNTech) พันธมิตรสัญชาติเยอรมัน

โดยคณะผู้บริหาร ไฟเซอร์ เผยในการประชุมกับผู้ลงทุนว่า ผู้เข้าร่วมทดลองมากกว่า 12,000 คนได้รับ วัคซีนโควิด-19 โดสที่ 2 เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน บริษัทคาดการณ์ว่า จะเผยแถลงการณ์สรุปเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2563 ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับอัตราการติดเชื้อในปัจจุบันด้วย

ปัญหาล่าสุดของไฟเซอร์ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังการทดลอง วัคซีนโรคโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) บริษัทเภสัชภัณฑ์ข้ามชาติ ถูกระงับทั่วโลกเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2563 เนื่องจากมีรายงานพบผลข้างเคียงร้ายแรงในอาสาสมัครรายหนึ่งในสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ฟอกซ์ บิสสิเนส (Fox Business) เผยว่า แอสตราเซเนกากลับมาเดินหน้าทดลองวัคซีนอีกครั้งในสหราชอาณาจักรและบราซิล เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ก.ย. 63) หลังได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดีการทดลองในสหรัฐยังคงถูกระงับ

วัคซีนโควิด-19

รัสเซียจ่อส่งวัคซีนให้ อินเดีย‘ 100 ล้านโดส

ด้านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซีย (RDIF) เปิดเผยการทำข้อตกลงร่วมกับบริษัท ด็อกเตอร์ เรดดีส์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด เพื่อจัดสรร “สปุตนิก ไฟว์” (Sputnik V) วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ฝีมือรัสเซีย ให้แก่บริษัทยาของอินเดียจำนวน 100 ล้านโดส

แถลงการณ์ของกองทุนฯ ระบุว่า การส่งมอบวัคซีนอาจเริ่มขึ้นช่วงปลายปี 2563 ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์และความสำเร็จของการทดลองและการขึ้นทะเบียนวัคซีนโดยหน่วยงานกำกับดูแลในอินเดีย”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียได้ขึ้นทะเบียน วัคซีนโควิด-19 “สปุตนิก ไฟว์” ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านระบาดวิทยาและจุลชีววิทยากามาเลยา ส่งผลให้สปุตนิก ไฟว์กลายเป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดแรกของโลกที่มีการจดทะเบียน

 

คาดชาวอเมริกันได้รับ “วัคซีนโควิด-19″ กลางปีหน้า 

โรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) เปิดเผยว่า วัคซีนโควิด-19 จะพร้อมวางจำหน่ายแก่ประชาชนอเมริกันทั่วไปช่วงปลายไตรมาสที่ 2 หรือช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564

ระหว่างการชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการจัดสรรของวุฒิสภา เรดฟิลด์กล่าวว่า ในขั้นต้นวัคซีนอาจพร้อมวางจำหน่ายช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2563 “แต่จะมีปริมาณจำกัดมาก และจะถูกจัดสรรตามลำดับความสำคัญ”

“ถ้าคุณถามผมว่าชาวอเมริกันจะได้รับวัคซีนเมื่อใด เพื่อที่เราจะได้เริ่มใช้ประโยชน์จากวัคซีนและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ผมว่าอาจเป็นช่วงปลายไตรมาสที่ 2 หรือ 3 ของปี 2564” ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เผย

เรดฟิลด์ระบุว่า แม้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะวางจำหน่ายแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลา “6-9 เดือน” กว่าจำนวนผู้คนที่ได้รับวัคซีนจะมีมากพอสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกัน

อย่างไรก็ดี เรดฟิลด์กล่าวว่าสิ่งสำคัญในขณะนี้คือการที่ผู้คนปฏิบัติตามขั้นตอนการบรรเทาผลกระทบจากโรคระบาด อาทิ การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การสวมใส่หน้ากากอนามัย และการหลีกเลี่ยงฝูงชน พร้อมเสริมว่าการสวมหน้ากากอนามัยอาจป้องกันโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าวัคซีนอีกด้วย

ผมอาจบอกได้เลยว่า หน้ากากอนามัยปกป้องผมจากโควิด-19 ได้แน่นอนยิ่งกว่าการฉีดวัคซีนเสียอีก เพราะการมีปฏิกิริยาสร้างภูมิคุ้มกัน (immunogenicity) นั้นอาจป้องกันได้ 70%

โควิด-19 สหรัฐ

ผู้อำนวยการศูนย์ฯ กล่าวต่อไปว่า “หากผมไม่มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน วัคซีนก็จะไม่ปกป้องผม แต่หน้ากากจะช่วยได้แน่นอน” พร้อมเผยว่าขณะนี้ประชาชนชาวอเมริกันยังไม่สวมหน้ากากอนามัยถึงในระดับที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ผมอยากร้องขอให้ประชาชนชาวอเมริกันมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 18-25 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรายังเห็นการระบาดเพิ่มขึ้นในอเมริกา” เรดฟิลด์กล่าว

อย่างไรก็ตาม โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐจะเริ่มแจกจ่าย วัคซีนโควิด-19 ได้เร็วที่สุดในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งเร็วกว่าไทม์ไลน์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo