World News

ทนแรงกดดันไม่ไหว ‘เควิน เมเยอร์’ ลาออกจากซีอีโอ ‘TikTok’ หลังนั่งได้ 3 เดือน

ทนแรงกดดันไม่ไหว ซีอีโอ “TikTok” ประกาศลาออก หลังรับตำแหน่งได้เพียง 3 เดือน เขียนจดหมายแจ้งสาเหตุพนักงานเพราะสภาพแวดล้อม “ทางการเมือง” เปลี่ยนไปอย่างหนักหน่วง

เควิน เมเยอร์ (Kevin Mayer) ซีอีโอ ของติ๊กต็อก (TikTok) ได้ตัดสินใจลาออก ท่ามกลางแรงกดดันของสหรัฐต่อแอพพลิเคชั่นแชร์วิดีโอยอดนิยมดังกล่าว หลังเข้ารับตำแหน่งได้ราว 3 เดือน

Kevin Mayer ซีอีโอ TikTok
                                                    เควิน เมเยอร์ (Kevin Mayer) ซีอีโอ TikTok

ในจดหมายที่เขียนถึงพนักงานของเขา เมเยอร์กล่าวว่า เขาตัดสินใจทำเช่นนี้ เพราะสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างหนักหน่วง

ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทางการสหรัฐได้เฝ้ากล่าวหา TikTok หลายต่อหลายครั้งว่า เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ

เจ้าหน้าที่สหรัฐ หลายรายยังกล่าวหา ไบต์แดนซ์ (ByteDance) เจ้าของแอพฯ ดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ว่า สามารถส่งต่อข้อมูลที่รวบรวมจากวิดีโอสตรีมมิงของชาวอเมริกัน ไปยังรัฐบาลจีน แม้คำกล่าวนี้จะถูกปฏิเสธจาก TikTok แล้วก็ตาม

แม้เราคาดหวังว่า จะพบทางแก้ไขปัญหาในเร็ววัน ทว่าด้วยสิ่งที่เกิดขึ้น ผมลำบากใจอย่างยิ่งที่จะต้องแจ้งให้ทุกคนทราบว่าผมตัดสินใจลาออกจากบริษัทแล้ว” เขาเขียนในจดหมาย

ทั้งนี้ เมเยอร์ เป็นอดีตประธานแผนกธุรกิจสตรีมมิงของดิสนีย์ เขาเข้ามาทำงานเป็น ซีอีโอ TikTok ในเดือนพฤษภาคม 2563

 TikTok

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ส.ค. 63) TikTok ได้ยื่นฟ้องรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การบริหารของโดนัลด์ ทรัมป์ หลังทรัมป์ออกคำสั่งฝ่ายบริหาร ห้ามไม่ให้บุคคลหรือหน่วยงานใดในสหรัฐฯ ทำธุรกรรมกับ “ไบต์แดนซ์” บริษัทเจ้าของแอพพลิเคชั่น TikTok

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คำฟ้องร้องมีทั้งหมด 39 หน้า โดยระบุว่า จำเลยคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ, วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ

เอกสารการฟ้องร้องระบุว่า TikTok กล่าวหาว่า ทางการสหรัฐละเมิดสิทธิของบริษัท โดยปราศจากซึ่งหลักฐานที่พิสูจน์ให้เห็นถึงพฤติกรรมอันรุนแรง รวมถึงกล่าวหาว่าการออกคำสั่งประกาศแบนแอพฯ TikTok ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งกระทำโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าหรือไม่เปิดโอกาสในการฟังความ ถือเป็นการละเมิดกระบวนการคุ้มครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 (Fifth Amendment)

ในขณะเดียวกัน คำฟ้องร้องยังอ้างอิงถึงคำพูดของทรัมป์เกี่ยวกับกรณีนี้ เช่น การประโคมข่าวในเชิงรณรงค์ว่า TikTok “ไม่มีสิทธิ” และจะแบนแอพพลิเคชั่นยอดนิยมนี้ หาก TikTok ไม่ยอมจ่ายเงินให้กับรัฐบาลสหรัฐ เพื่อเป็นให้ได้รับคำอนุมัติสำหรับการทำธุรกรรมซื้อขายใดๆ ซึ่งคำพูดเหล่านี้ขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

คำฟ้องร้องระบุว่า “ประธานาธิบดีได้ทำการยึดทรัพย์สินของโจทก์โดยไม่มีการชดเชย ด้วยการเรียกร้องให้โจทก์ชำระเงินให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา ในฐานะเงื่อนไขในการขาย TikTok ถือเป็นการละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5″

5e7c50bca03f29d38632de8f43599b61c01ad098
                                                         โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น การออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อขัดขวางไม่ให้ TikTok ดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก ตามบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฉบับที่ 1 (First Amendment) ของ TikTok

TikTok ได้โต้แย้งว่า คำสั่งแบนของทรัมป์ถือเป็นการใช้กฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (International Emergency Economic Powers Act) โดยมิชอบ เนื่องจากในกรณีนี้แพลตฟอร์มของตนไม่ได้ทำกิจกรรมที่เป็น “ภัยคุกคามอย่างผิดปกติ” แต่อย่างใด

TikTok โต้อีกว่า เหล่าประธานาธิบดีในอดีตใช้อำนาจที่ได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องประเทศจากภัยคุกคามจากต่างประเทศ รวมถึงการก่อการร้ายและการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

แต่คำสั่งฝ่ายบริหารในรัฐบาลทรัมป์กลับพยายามใช้กฎหมายนี้กับบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่มีพนักงานหลายร้อยคนทั่วประเทศ และมุ่งทำลายชุมชนออนไลน์ที่มีชาวอเมริกันหลายล้านคนร่วมแบ่งปันวิดีโอซึ่งกันและกัน

ข้อมูลของบริษัท TikTok ระบุว่า จวบจนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2563 จำนวนผู้ใช้งานจริงรายเดือน (monthly active users) ทั้งหมดในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นเป็น 91,937,040 คน และจากข้อมูลการใช้งานรายไตรมาส มีชาวอเมริกัน 100 ล้านคนที่ใช้แอพพลิเคชั่นนี้เป็นช่องทางในการแสดงออกถึงตัวตนของพวกเขาและเชื่อมต่อถึงกัน

การออกคำสั่งของฝ่ายบริหาร “ด้วยเหตุผลทางการเมืองแทนที่จะเป็นเพราะ ภัยคุกคามที่ผิดปกติและไม่ธรรมดาต่อสหรัฐอเมริกา นั้นเป็นข้ออ้างของประธานาธิบดีในการใช้อำนาจของเขา” ภายใต้กฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ

TikTok และบริษัท ByteDance ซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ในการฟ้องร้องครั้งนี้เรียกร้องให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงสิทธิและออกคำสั่งให้การประกาศแบน TikTok เป็นโมฆะ รวมถึงไม่ให้มีการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับใดๆ ที่ออกโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐในภายหลัง

“คำสั่งฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีขัดต่อรัฐธรรมนูญ และอยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจ และต้องถูกยกเลิก” คำฟ้องร้องระบุ

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo