COVID-19

‘โควิด’ แผลงฤทธิ์ ทุบ ‘อาเบะโนมิกส์’ กระจาย ฉุด ‘เศรษฐกิจญี่ปุ่น’ หดตัวแรงสุด

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ตกอยู่ในภาวะหดตัวครั้งรุนแรงสุด เป็นประวัติการณ์ ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำการใช้จ่าย และการส่งออกของประเทศ ซบเซาอย่างหนัก สร้างแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบาย ในการจัดหามาตรการที่ชัดเจน ป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจดิ่งลงไปมากกว่านี้

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2/2563 หดตัวลง 27.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส จีดีพี ไตรมาส 2 ของญี่ปุ่นหดตัวลง 7.8%

เศรษฐกิจญี่ปุ่น

รายงานของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลประกาศควบคุมกิจกรรมในภาคธุรกิจภายใต้มาตรการฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของระบบ เศรษฐกิจญี่ปุ่น นั้น ปรับตัวลง 8.2% ในไตรมาส 2 เนื่องจากการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การรับประทานอาหาร และการจับจ่ายซื้อของนอกบ้าน ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง หลังจากรัฐบาลได้ร้องขอให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

ส่วนการส่งออกสินค้าและการบริการในไตรมาส 2 หดตัวลง 18.5% ในไตรมาส 2 ขณะที่การนำเข้าปรับตัวลง 0.5%

สำหรับการใช้จ่ายด้านทุนของภาคเอกชน ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความต้องการภายในประเทศนั้น ลดลง 1.5% ขณะที่การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน ลดลง 0.2% เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้แนวโน้มทางธุรกิจเผชิญกับความไม่แน่นอน

การหดตัวของเศรษฐกิจเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ทำให้มูลค่า จีดีพีที่แท้จริงของญี่ปุ่น ร่วงลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี และยังทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่เกิดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ “อาเบะโนมิกส์” ที่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น นำเข้ามาใช้ เมื่อปลายปี 2555 หายไปจนหมดสิ้น

นายทาเคชิ มินามิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันวิจัยโนรินชูคิน แสดงความเห็นว่า การดิ่งลงอย่างหนักของจีดีพี เป็นผลมาจากการบริโภค และการส่งออกที่ลดลง แต่เขาคาดว่า ในไตรมาสปัจจุบัน ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ เศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ในแดนบวกมากขึ้น จากการที่รัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ไปแล้ว ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่า เศรษฐกิจทั่วโลก ยกเว้นจีน ยังต้องดิ้นรนอย่างหนัก ในการที่จะฟื้นตัวขึ้นมา จากผลกระทบของมาตรการควบคุม และป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19

แม้การหดตัวของเศรษฐกิจ จะน้อยกว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ที่หดตัวลง 32.9% แต่ก็สูงกว่าสถิติที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเคยทำไว้อย่างมาก จากการหดตัวลง 17.8% ในช่วงไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ 2552 ซึ่งสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน  เนื่องจากการล่มสลายของยักษ์วาณิชธนกิจสหรัฐในขณะนั้น “เลห์แมน บราเธอร์ส” ทำให้ตลาดการเงินโลกป่วนหนัก

ทั้งนี้ มูลค่าจีดีพีที่แท้จริงของญี่ปุ่น ลดลงมาอยู่ที่ 485 ล้านล้านเยน แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2554 เป็นต้นมา โดยในครั้งนั้น ญี่ปุ่นยังได้รับผลกระทบจากภาวะเงินฝืด และภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ ที่ดำเนินมาร่วม 20 ปี

เศรษฐกิจญี่ปุ่น

เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวหนักสุดรอบ 70 ปี 

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการจีดีพี  ไตรมาส 2 ปี 2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจ สหรัฐ หดตัวลง 32.9% ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุด  นับตั้งแต่ที่สหรัฐ เริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2490 หรือกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากหดตัว 5% ในไตรมาส 1

อย่างไรก็ดี ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ยังดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะหดตัวลง 34.7% โดยการหดตัวของจีดีพีดังกล่าว รุนแรงกว่าที่ได้หดตัว 10% ในไตรมาสแรกของปี 2501 และการหดตัว 8.4% ในไตรมาส 4 ของปี 2551

ตัวเลขจีดีพีที่ร่วงลงเป็นประวัติการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึง ช่วงเวลาที่เลวร้ายสุด ของการปิดเมือง หรือล็อกดาวน์ เพื่อควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโควิด-19

เมื่อนับรวมกับ การหดตัวของจีดีพีในไตรมาสแรก ของปีนี้แล้ว ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ ในปัจจุบัน ตกอยู่ในภาวะถดถอย อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจ สหรัฐ หดตัว 5% ในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจีดีพีติดลบ นับตั้งแต่ที่มีการรายงานว่าเศรษฐกิจหดตัว 1.1% ในไตรมาส 1 ของปี 2557  ในปีที่แล้ว เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.1% ในไตรมาส 1 และ 2.0% ในไตรมาส 2 ขณะที่เติบโต 2.1% ทั้งในไตรมาส 3 และ 4

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo