World News

‘ดาวโจนส์’ ขยับขึ้น ขานรับ ‘ธุรกิจ’ รายงานรายได้แกร่ง รอผลประชุม ‘เฟด’

ตลาดหุ้นสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (29 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ปรับตัวสูงขึ้น จากการที่บริษัทจำนวนหนึ่งรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนมีความหวัง ถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง บดบังความกังวลเกี่ยวกับแผนการอัดฉีดขั้นต่อไปของรัฐบาลวอชิงตัน

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 26,443.71 จุด เพิ่มขึ้น 64.43 จุด หรือ 0.24% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,244.88 จุด ปรับขึ้นมา 26.44 จุด หรือ 0.82% และดัชนีแนสแด็ก ที่ 10,518.02 จุด บวก 115.92 จุด หรือ 1.11%

Stocks ๒๐๐๗๒๙ 0

ราคาหุ้นแอดวานซ์ ไมโคร ดีไวซ์ (เอเอ็มดี) พุ่งขึ้น 12.4% หลังผู้ผลิตชิพรายนี้ ปรับเพิ่มคาดการณ์รายได้ตลอดทั้งปี ส่วนราคาหุ้นสตาร์บัคส์ ทะยานขึ้นมา 3.9% จากการที่เชนร้านกาแฟชั้นนำของสหรัฐ ระบุว่า ธุรกิจกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทั่วโลก และบริษัทจะกลับมาทำกำไรอีกครั้งในไตรมาสปัจจุบัน

นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในคืนนี้ โดยมีการคาดการณ์ว่า เฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% และจะยืนยันว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวในช่วงหลายปีข้างหน้า หลังจากที่เมื่อวานนี้ (28 ก.ค.) เฟดได้ประกาศขยายเวลาโครงการปล่อยเงินกู้ฉุกเฉินจนถึงสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐ เช่น แอปเปิล อเมซอน เฟซบุ๊ก และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล โดยบริษัทดังกล่าวจะเข้าให้การต่อคณะอนุกรรมการต่อต้านการผูกขาดประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในวันนี้ หลังจากที่คณะอนุกรรมการดังกล่าวได้สอบสวนเกี่ยวกับพฤติกรรมด้านการค้าของกลุ่มบริษัทดังกล่าวเป็นเวลานานราว 1 ปี

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เตือนว่า การแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของดัชนี

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังรอดูการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประจำไตรมาส 2/2563 ของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค.) โดยคาดว่า ตัวเลขดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐทรุดตัวเป็นประวัติการณ์จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับจีดีพี ไตรมาส 2/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 34.1% ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ที่สหรัฐเริ่มมีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2490 หรือกว่า 70 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากหดตัว 5% ในไตรมาส 1

การหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐทั้งในไตรมาส 1 และ 2 จะทำให้สหรัฐเข้าเกณฑ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

การทรุดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 2 ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ซึ่งทำให้มีการปิดเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 5% ในไตรมาส 1 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจีดีพี ติดลบ นับตั้งแต่ที่มีการรายงานว่าเศรษฐกิจหดตัว 1.1% ในไตรมาส 1/2557 และเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจหดตัว 8.4% ในไตรมาส 4/2551 ซึ่งขณะนั้นสหรัฐกำลังเผชิญวิกฤติการเงิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo