World News

ยูบีเอสชี้ ‘ไทย-ไต้หวัน’ เสี่ยง เจอสหรัฐขึ้นบัญชีจับตา ‘ปั่นค่าเงิน’

ยูบีเอส กรุ๊ป ชี้ ไทย และไต้หวัน อาจถูกสหรัฐ เพิ่มชื่อไว้ในบัญชีเฝ้าระวัง ประเทศที่มีการ “ปั่นค่าเงิน” หลังมีคุณสมบัติครบทุกเงื่อนไข ที่กระทรวงการคลังสหรัฐ กำหนดไว้

ยูบีเอส เปิดรายงานวิเคราะห์ ที่แสดงให้เห็นว่า “ไต้หวัน” ซึ่งเพิ่งถูกสหรัฐ ถอดชื่อออกจากบัญชีจับตา “แทรกแซงค่าเงิน” เมื่อปี 2560 และไทย มีความเสี่ยง ที่จะถูกนำชื่อไปใส่ไว้ใน บัญชีจับตา ประเทศ หรือดินแดน ที่มีการปั่นค่าเงิน ของสหรัฐอีกครั้ง

ปั่นค่าเงิน

เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะในขณะนี้ ไทย และไต้หวัน ต่างมีพฤติกรรม ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ ที่ กระทรวงการคลังสหรัฐ กำหนดไว้ว่า เป็นประเทศ หรือดินแดน ที่มีพฤติกรรม บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ของตัวเอง

“ไทย และไต้หวัน ข้ามเส้นการได้เปรียบดุลการค้า 20,000 ล้านดอลลาร์ ต่อสหรัฐไปแล้ว ทำให้มีคุณสมบัติ ที่จะถูกขึ้นบัญชีเฝ้าระวัง” โรหิต อาโรรา และเทค ควอน โกะห์ 2 นักกลยุทธ์ ของยูบีเอส เขียนไว้ในรายงานวิเคราะห์

นักกลยุทธ์ทั้ง 2 คน คาดว่า ในรายงานฉบับใหม่ ที่สหรัฐจะออกมานั้น จะมีการกล่าวอ้างถึงไทย และมีความเป็นไปได้ ที่ชื่อของไต้หวัน จะกลับมาติดอยู่ในกลุ่มประเทศ หรือดินแดน ที่ถูกจับตาอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เขาไม่กังวล เกี่ยวกับรายงานการบิดเบือนค่าเงินฉบับใหม่ ของสหรัฐ เพราะทางการไทยได้ชี้แจง นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เงินตราต่างประเทศ ต่อกระทรวงการคลังสหรัฐแล้ว ทั้งค่าเงินบาท ก็มีการเคลื่อนไหวในทั้ง 2 ทิศทาง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์

เขาบอกด้วยว่า ธปท. จะเข้าไปแทรกแซงตลาด ก็ต่อเมื่อเกิดการแกว่งตัวที่มากจนเกินไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ทางแบงก์ชาติ ใช้บริหารจัดการ การซื้อขายค่าเงินในระบบลอยตัว ซึ่งกระทรวงการคลังสหรัฐ ก็เข้าใจเรื่องนี้ดี

3 เงื่อนไขพิจารณา “ปั่นค่าเงิน” 

  1. เกินดุลบัญชีเดินสะพัด มากกว่า 2% ของจีดีพี
  2. ในช่วง 1 ปี ได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐ มากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์
  3. ธนาคารกลางเข้าแทรกแซงค่าเงิน เกิน 6 เดือน ในช่วง 1 ปี และเข้าซื้อเงินดอลลาร์เกิน 2% ของจีดีพี

กระทรวงการคลังสหรัฐ 01

ทั้งนี้ ในรายงานว่าด้วยนโยบายเศรษฐศาสตร์มหภาค และปริวรรตเงินตรา ของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ของสหรัฐ ที่ออกมา เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น ไม่มีชื่อไทย และไต้หวัน อยู่ในรายชื่อประเทศ หรือดินแดน ที่ถูกขึ้นบัญชีจับตาว่า แทรกแซงค่าเงิน แต่อย่างใด

ในรายงานดังกล่าว ยังเป็นครั้งแรกที่ สหรัฐ ได้ถอดชื่อจีน ออกจากบัญชีประเทศแทรกแซงค่าเงิน มาอยู่ในรายชื่อของประเทศที่”เฝ้าระวัง”ว่าจะบิดเบือนค่าเงินแทน โดยระบุว่า จีน ประเทศ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุด เป็นอันดับ 2 ของโลก มีภาระผูกพัน ที่จะไม่ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลง

ก่อนหน้านั้น ในปี 2561  ไทยเคยติดเงื่อนไข 2 ใน 3 ที่ต้องเฝ้าระวัง เรื่องของการ แทรกแซงค่าเงิน มาแล้ว  ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ได้มีการแทรกแซงค่าเงิน เพื่อที่จะให้ไทย ได้เปรียบในการส่งออก

บทวิเคราะห์ของยูบีเอส ยังชี้ว่า ไทยอาจหมดสิทธิ์ เข้าซื้อดอลลาร์ ในช่วง 6-9 เดือนข้างหน้า เนื่องจาก ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย เกินดุลในระดับสูง ทั้งช่วงที่ผ่านมา ไทยได้เข้าซื้อดอลลาร์ไปแล้ว คิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

ยูบีเอส บอกด้วยว่า  75% ของธนาคารกลางทั่วเอเชีย มีการแทรกแซงค่าเงิน ทั้งประเทศในเอเชีย ยังคิดเป็นสัดส่วน 60% ของจำนวนเศรษฐกิจทั้งหมด ที่อยู่ภายใต้การเฝ้าระวัง ของกระทรวงการคลังสหรัฐ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo