World News

ศาลญี่ปุ่นสั่งปรับ 2.5 ล้านเยน คดีจ่ายสินบนไทย โรงไฟฟ้าขนอม

ศาลสูงโตเกียว ตัดสินให้อดีตผู้บริหารมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด จ่ายค่าปรับ 2.5 ล้านเยน แทนการจำคุก ตามคำตัดสินของศาลแขวงก่อนหน้านี้ ในคดี จ่ายสินบนไทย 

สำนักข่าวซินหัว ของจีน รายงานว่า ศาลสูงโตเกียว ตัดสินให้ นายซาโตชิ อูชิดะ วัย 66 ปี อดีตผู้บริหาร บริษัทมิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ (เอ็มพีเอชเอส) จ่ายค่าปรับเป็นจำนวน 2.5 ล้านเยน หรือประมาณ 740,000 บาท ในข้อหาให้สินบน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม แทนการที่จะได้รับโทษจำคุก 18 เดือน ตามการตัดสินของศาลแขวง เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

จ่ายสินบนไทย

แหล่งข่าวระบุว่า การตัดสินดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากที่นายอูชิดะ บรรลุข้อตกลงกับทางการญี่ปุ่น นำระบบการต่อรองการรับสารภาพ หรือ plea bargain เข้ามาใช้ ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้ ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการลดโทษ หากร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการสอบสวน และทางบริษัทต้นสังกัด ก็จะไม่ถูกฟ้องร้องด้วย

ในการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้ นายอูชิดะ ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ฐานสมรู้ร่วมคิดกับบุคคลอื่นอีก 2 คน ให้สินบนกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ในกระทรวงคมนาคมของไทย ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ เอ็มเอชพีเอส ในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ของไทย

ส่วนการพิจารณาคดีล่าสุดนี้ ศาลสูงโตเกียว ชี้ว่า คำกล่าวอ้างของบุคคลอีก 2 คนในคดีนี้ ที่ระบุว่า นายอูชิดะเป็นผู้อนุมัติการให้สินบนดังกล่าว เป็นเรื่องที่ยังน่าสงสัยอยู่

กระนั้นก็ตาม ศาลเห็นว่า นายอูชิดะ ยังคงมีความผิด ที่ไม่ยับยั้งบุคคลทั้งคู่ ในเรื่องการสินบนแก่เจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม ในไทย แม้ว่าเขาจะมีอำนาจทำได้

ทั้งนี้ บุคคลอีก 2 คนดังกล่าว ที่ถูกตัดสินความผิดไปแล้วนั้น ถูกตรวจพบว่า ให้สินบนราว 20 ล้านบาท แก่เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายของไทย เพื่อให้อำนวยความสะดวกในการขนส่งอุปกรณ์  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หลังได้รับแจ้งว่า อุปกรณ์ที่ต้องนำไปใช้ในโครงการโรงไฟฟ้านั้น ไม่สามารถขนขึ้นที่ท่าเรือได้

ข้อเท็จจริงของคดี “จ่ายสินบนไทย”

ช่วงที่มีการเปิดเผยการให้สินบนดังกล่าวขึ้น เมื่อปี 2561 นั้น เอ็มเอชพีเอส ได้ออกมาให้รายละเอียด ถึงเรื่องนี้ว่า ข้อหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ เอ็มเอชพีเอส ในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชของไทย

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 พนักงานเอ็มเอชพีเอส ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการขนส่งอุปกรณ์ ได้รับแจ้งว่า ผู้รับเหมาช่วง (ซับคอนแทรคเตอร์) ที่รับผิดชอบในการจัดส่งอุปกรณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าทางทะเล พยายามที่จะขนถ่ายอุปกรณ์ขึ้นยังท่าเรือที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ก่อสร้าง แต่กลุ่มคนในท้องถิ่น รวมถึง บุคคลที่เชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือท้องถิ่น ไม่อนุญาตให้ใช้ท่าเรือ และเรียกร้องให้มีการจ่ายเงิน 20 ล้านบาท

การไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นท่าเรือเกิดขึ้นเพราะผู้ดำเนินการขนส่ง ไม่ได้มีการดำเนินงานตามขั้นตอนที่จำเป็นในการขอใบอนุญาตจากทางการที่จะใช้ท่าเรือ และมีการประเมินว่า หากเกิดความล่าช้า ในการขนย้ายอุปกรณ์เพราะเรื่องนี้ ก็จะทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งจะทำให้เอ็มเอชพีเอส มีต้นทุน และค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ ค่าปรับต่อความเสียหายที่เกิดจากความล่าช้า

ในความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์เช่นนั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องเอ็มเอชพีเอส จึงได้มอบเงินให้กับซับคอนแทรคเตอร์จำนวน 20 ล้านบาท เพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้

เอ็มเอชพีเอสไม่สามารถยืนยันได้ว่า ซับคอนแทรคเตอร์ ได้ส่งมอบเงิน 20 ล้านบาท ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ โดยเงินจำนวนนี้เป็นการจัดหามาโดยกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเอ็มเอชพีเอสในขณะนั้น ด้วยการสั่งงานหลอกๆ เพิ่มให้กับผู้รับเหมาท้องถิ่น

การรับมือของ “เอ็มเอชพีเอส” หลังทราบเหตุการณ์

ในเดือนมีนาคม 2558 เอ็มเอชพีเอสได้รับแจ้งจากคนในบริษัท ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการจ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ซึ่งเอ็มเอชพีเอสก็ได้ดำเนินการสอบสวนภายในขึ้นมาทันทีภายในเดือนเดียวกัน และยังมอบหมายให้บริษัทกฎหมายภายนอกบริษัท ดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย

การตรวจสอบเหล่านี้ รวมถึง การเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง และให้ทนายความของบริษัทดำเนินการเก็บรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

เมื่อพบความเป็นไปได้ว่าจะมีการละเมิดกฎหมาย และข้อบังคับเกิดขึ้น บริษัทได้รายงานเรื่องนี้ต่อสำนักงานอัยการเขตโตเกียว ในเดือนมิถุนายน 2558

ใช้ระบบข้อตกลงต่อรองรับสารภาพ

ในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เอ็มเอชพีเอส รายงานข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบพบมาต่อสำนักงานอัยการเขตโตเกียวนั้น ระบบข้อตกลงต่อรองสารภาพ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ยังไม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เอ็มเอชพีเอสได้ให้ความร่วมมือกับการสืบสวนคดีนี้ ของสำนักงานอัยการเขตโตเกียวอย่างเต็มที่ ซึ่งทางสำนักงานก็ตระหนักดีถึงความร่วมมือจากเอ็มเอชพีเอส และในเดือนมิถุนายน 2561 ได้แนะนำให้มีการนำข้อตกลงต่อรองรับสารภาพเข้ามาใช้ในคดีนี้

เอ็มเอชพีเอสมีความเข้าใจว่า ต่อให้ไม่มีการนำข้อตกลงต่อรองรับสารภาพเข้ามาใช้ การตั้งข้อหาต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ราย ก็จะไม่แตกต่างออกไป และบริษัทเชื่อมั่นว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องให้ความร่วมมือเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดในเรื่องนี้ออกมา เข้าสู่ข้อตกลงกับอัยการ ภายใต้ระบบข้อตกลงการรับสารภาพ

เอ็มเอชพีเอสเชื่อว่า การตัดสินใจของบริษัทในการทำข้อตกลงดังกล่าว เป็นเรื่องที่ทั้งจำเป็น และสมเหตุผล เพื่อที่จะรับประกันว่า จะสามารถปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น และพนักงานบริษัทเอาไว้ได้

การลงโทษภายใน

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 บริษัทได้ดำเนินการลงโทษทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสม และเพื่อแสดงความรับผิดชอบในระดับของผู้บริหารต่อเหตุการณ์นี้ ทั้งประธานบริหาร และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านการขาย และอนุมัติ ให้เหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เกิดขึ้น โดนหักเงินค่าตอบแทนดังต่อไปนี้

  • ประธานบริหาร และซีอีโอ หักเงินเดือน 30% นาน 3 เดือน
  • รองประธานบริหารอาวุโส รับผิดชอบด้านการขาย หักเงินเดือน 20% นาน 3 เดือน
  • หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ และธุรกิจ สำนักงานใหญ่ รับผิดชอบด้านการขาย หักเงินเดือน 20% นาน 3 เดือน
  • ผู้จัดการอาวุโสแผนกบริหาร และการจัดการ รับผิดชอบการอนุมัติงานต่างๆ หักเงินเดือน 10% นาน 3 เดือน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo