World News

‘กังวลสงครามการค้า-วิกฤติการเงินอาร์เจนตินา’ กดหุ้นสหรัฐเดินขาลง

หุ้นสหรัฐเปิดตลาดวันนี้ (30 ส.ค.) ปรับตัวลงมา หลังจากทะยานขึ้น 4 วันต่อเนื่อง หลังตลาดตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากผลประกอบการของกลุ่มค้าปลีก และความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่เป็นปัจจัยกดดันตลาดมาเกือบทั้งปี

000 18J18X

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดลดลง 82.82 จุด หรือ 0.32% มาอยู่ที่ 26,041.75 จุด ดัชนีแนสแด็กลดลง 3.99 จุด หรือ 0.39% ที่ 8,106.56 จุด และดัชนีเอสแอนด์พี 500 ขยับลงมา 3.01 จุด หรือ 0.10% มาอยู่ที่ 2,910.96 จุด

รัฐบาลสหรัฐเสนอที่จะเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด ต่อสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายนนี้ หลังจากที่ช่วงเวลารับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนสิ้นสุดลงในวันพุธหน้า (5 ก.ย.)

นักลงทุนยังจับตาวิกฤติการเงินในอาร์เจนตินา ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของลาตินอเมริกา ท่ามกลางความกังวลว่า รัฐบาลอาร์เจนตินาอาจผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเมาริซิโอ มาครี ของอาร์เจนตินา ได้เรียกร้องให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เร่งการเบิกจ่ายเงินกู้วงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ที่มีการอนุมัติก่อนหน้านี้ เพื่อรับมือกับวิกฤติการเงินในประเทศ

นอกจากการขอเงินกู้จากไอเอ็มเอฟ รัฐบาลอาร์เจนตินายังได้ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 45% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และชะลอการดิ่งลงของค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา

ข่าวการขอเงินกู้จากไอเอ็มเอฟดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา ดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (29 ส.ค.) โดยร่วงลงมากกว่า 7% สู่ระดับ 34.10 เปโซต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดภายในวันเดียวของค่าเงินเปโซนับตั้งแต่ที่มีการปล่อยค่าเงินลอยตัวเมื่อ 3 ปีก่อน

ปัจจุบัน เปโซดิ่งลงมากกว่า 45% เมื่อเทียบดอลลาร์ในปีนี้ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา และเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น 25.4% ในปีนี้

ทางด้านไอเอ็มเอฟแถลงว่า จะพิจารณาทบทวนแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลอาร์เจนตินา โดยจะพุ่งเป้าไปที่การดำเนินมาตรการที่จะป้องกันไม่ให้อาร์เจนตินาได้รับผลกระทบจากภาวะไร้เสถียรภาพในตลาดการเงินโลก และว่า ทางองค์กรมีแผนที่จะใช้มาตรการเข้มงวดมากขึ้นด้านการเงินและการคลังต่ออาร์เจนตินา

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight