World News

กลับมาแล้ว !! กระทรวงต่างประเทศแจง ได้ ‘รูปปั้นโกษา ปาน’ คืนแล้ว

รูปปั้นโกษา ปาน ในฝรั่งเศสได้คืนแล้ว กระทรวงการต่างประเทศ เผย มีผู้นำรูปปั้น กลับสู่ที่เดิมแล้ว เมืองแบรสต์เตรียมปรับระดับฐานให้สูงขึ้น ก่อนนำกลับมาติดตั้งอีกครั้ง 

จากกรณีที่มีรายงานข่าวว่า รูปปั้น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งประดิษฐาน ณ ถนนสยาม เมืองแบรสต์ ในประเทศฝรั่งเศส ถูกลักขโมยไป นั้น

รูปปั้นโกษา ปาน

ล่าสุด นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษก กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานเรื่อง รูปปั้นโกษา ปาน ที่หายไป จากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีสแล้ว ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานงานกับสำนักงานนายกเทศมนตรี เมืองแบรสต์ อย่างใกล้ชิด

ต่อมา ในช่วงเช้าวันนี้ (29 มิ.ย.) ตามเวลาในฝรั่งเศษ สำนักงานนายกเทศมนตรี เมืองแบรสต์ ได้แจ้งต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ว่า มีผู้นำรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) มาตั้งกลับคืนไว้ที่ฐานเดิม ในช่วงกลางดึกที่ผ่านมา โดยรูปปั้นไม่มีความเสียหาย

ในชั้นนี้ ทางเมืองแบรสต์ได้นำรูปปั้นมาเก็บรักษาไว้ที่ที่ทำการเมือง เพื่อรอการปรับระดับฐานให้สูงขึ้นก่อนติดตั้งอีกครั้ง  ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตฯ จะติดตามความคืบหน้าในการติดตั้งรูปปั้นบนฐานที่ปรับปรุงใหม่ต่อไป

ทั้งนี้ รูปปั้นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ถูกนำมาติดตั้งในบริเวณสามแยกถนนปาสเตอร์ และถนนชอง มูแล็ง บริเวณถนนสยาม ในเมืองแบรสต์ ของฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส ซึ่งได้มีการจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ มีบุคคลสำคัญของฝรั่งเศส เข้าร่วมงานจำนวนมาก  ทั้งยังมีขบวนรำกลองยาว และประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ ร่วมกันเดินขบวนระยะทางหลายกิโลเมตร จากจุดที่ตั้งอนุสาวรีย์ ไปจนถึงศาลาว่าการเมือง เพื่อเข้าร่วมพิธีเปิด และงานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นทางการ

รูปปั้นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ณ เมืองเบรสต์ ฝรั่งเศส ถือเป็นหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์บังเกิดขึ้นอีกช่วงเวลาหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศของไทย-ฝรั่งเศส ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 333 ปี

รูปปั้นโกษา ปาน

ทั้งนี้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) (พ.ศ. 2176–2242) เป็นข้าราชการในอาณาจักรอยุธยา สมัยสมเด็จพระนารายณ์ เป็นเอกอัครราชทูตคนสำคัญ ที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อปี 2229

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เดินทางมายังฝรั่งเศส ขณะที่ยังอยู่ในบรรดาศักดิ์ ออกพระวิสุทธสุนทร  โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นทูต ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส

ในสมัยดังกล่าว ฝรั่งเศสมีอิทธิพล ในราชสำนักของพระนารายณ์มาก จุดประสงค์ของฝรั่งเศส คือ เผยแพร่คริสต์ศาสนา และพยายามใ ห้พระนารายณ์เข้ารีต เป็นคริสตศาสนิกชน รวมทั้งพยายามมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยา ด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอก และเมืองมะริด

คณะทูตของ ออกพระวิสุทธสุนทร มีผู้ร่วมคณะกว่า 40 คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2229 ได้เข้าเฝ้า พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2229 ณ พระราชวังแวร์ซาย และเดินทางกลับ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2230

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้ชื่อว่า เป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออกับการจดบันทึก สิ่งที่พบเห็นในการเดินทาง

ในการเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คณะทูตอยุธยา ได้รับเสียงยกย่อง ชื่นชม จากชาวฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นครั้งแรก ที่พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายตะวันออก แต่งทูตไปยังฝรั่งเศส
ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงรับรองคณะทูตอย่างสมเกียรติยศ โปรดให้ทำเหรียญที่ระลึก และเขียนรูปเหตุการณ์เอาไว้

ในพระราชสาสน์ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ส่งถึงพระนารายณ์มหาราชนั้น ทรงกล่าวถึงปานว่า

ราชทูตของพระองค์นี้ รู้สึกว่า เป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถี่ถ้วนดีมาก หากเรามิฉวยโอกาสนี้ เพื่อเผยแพร่ความชอบแห่งราชทูตของพระองค์บ้าง ก็จะเป็นการอยุติธรรมไป เพราะราชทูตได้ปฏิบัติล้วนถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไร แต่ละคำก็ดูน่าปลื้มใจ และน่าเชื่อถือทุกคำ

ความสำเร็จจากการทูตดังกล่าว ทำให้ปานได้ฉายาว่า ราชทูตลิ้นทอง หรือนักการทูตลิ้นทอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo