World News

จอร์จ ฟลอยด์ ต้องได้รับความยุติธรรม! หลายประเทศร่วมประท้วง

ผู้คนในหลายประเทศทั่วโลก พากันออกมาชุมนุม เพื่อร่วมเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ “จอร์จ ฟลอยด์” ชายผิวสีชาวอเมริกัน ที่เสียชีวิตหลังถูกตำรวจเข้าจับกุม

จอร์จ ฟลอยด์

บรรดาผู้ชุมนุมแสดงความโกรธแค้น จากการที่ เดเรค ชอวิน นายตำรวจที่เข้าจับกุม จอร์จ ฟลอยด์ ด้วยข้อหาใช้ธนบัตรปลอม ใช้เข่ากดทับที่คอนายฟลอยด์เป็นเวลาหลายนาที ทั้งที่นายฟลอยด์ถูกล็อคมือไขว้หลังไว้ด้วยกุญแจมือ และร้องบอกตำรวจว่า “หายใจไม่ออก” ก็ตาม

แคนาดา

ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ในนครโตรอนโต ขณะที่นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด กล่าวว่าปัญหาการเลือกปฏิบัติจากสีผิวนั้นยังมีอยู่ทุกวัน ทั้งในอเมริกา และแคนาดา

เม็กซิโก

ประชาชนพากันวางภาพวาดและดอกไม้ที่รั้วใกล้สถานทูตสหรัฐ ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ เพื่อสนับสนุนและไว้อาลัยต่อฟลอยด์

เยอรมนี

ผู้ประท้วงหลายร้อยคนรวมตัวกันที่หน้าสถานทูตสหรัฐ ในกรุงเบอร์ลิน พร้อมชูป้ายเรียกร้องความยุติธรรมให้กับฟลอยด์

อังกฤษ

ประชาชนหลายพันคนชุมนุมในกรุงลอนดอนในวันอาทิตย์เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการประท้วงในสหรัฐ โดยตะโกนว่า “No justice! No peace!” แม้ว่าทางการอังกฤษจะยังมีมาตรการห้ามชุมนุมเพื่อป้องกันการระบาดของโคโรนาไวรัสก็ตาม

อิสราเอล

ผู้คนราว 150 คน รวมตัวกันเดินขบวนในนครเยรูซาเล็ม เพื่อประท้วงเหตุการณ์ตำรวจอิสราเอลยิงสังหารชายชาวปาเลสไตน์ที่ไม่มีอาวุธ ในทำนองเดียวกันการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับฟลอยด์ ในสหรัฐ

ทั้งนี้  ในคลิปวีดิโอที่ถูกเผยแพร่ออกมา และเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่นั้น แสดงให้เห็นว่า เดเรค ชอวิน นายตำรวจผิวขาววัย 44 ปี ได้ใช้เข่ากดเข้าบริเวณคอของฟลอยด์ วัย 46 ปี ระหว่างการจับกุมฟลอยด์ ในเมืองมินนิแอโพลิส สหรัฐ ขณะที่ฟลอยด์ก็หลายครั้งว่า เขาหายใจไม่ออก

เหตุการณ์นี้ ทำให้ชอวิน โดนปลดออก รวมถึงตำรวจอีก 3 นายที่อยู่ในเหตุการณ์นี้ด้วย แต่จนถึงขณะนี้ มีการตั้งข้อหาต่อชอวินเพียงคนเดียว ซึ่งบรรดาผู้ประท้วงเรียกร้องให้ดำเนินคดีต่อตำรวจเหล่านี้ทั้งหมด และว่า ข้อหาทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยประมาท ของชอวินนั้น เป็นข้อหาที่เบาเกินไป

คดีของฟลอยด์ สร้างความไม่พอใจ และโกรธแค้นอย่างมาก เพราะเป็นเหมือนการตอกย้ำกรณีที่ตำรวจวิสามัญคนผิวสี โดยเฉพาะชาวอเมริกัน-แอฟริกัน ในหลายกรณีด้วยกัน รวมถึงคดีไมเคิล บราวน์ ในเมืองเฟอร์กูสัน อีริค และการ์เนอร์ ในนิวยอร์ก ที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดกลุ่มเคลื่อนไหว “ชีวิตคนดำก็มีความสำคัญ” หรือ “Black Lives Matter” ขึ้นมา

Avatar photo