World News

อานิสงส์สงครามการค้าจีน-สหรัฐ ดันสินค้า ‘เมด อิน กัมพูชา’ เฟื่อง

ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน กับสหรัฐ ที่ทำให้สินค้าที่ผลิตจากจีนมีแนวโน้มจะราคาแพงขึ้น ทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างกัมพูชา และเวียดนาม มีความน่าสนใจในสายตาของผู้ผลิตสินค้าเพื่อผู้บริโภคอย่าง สตีเวน แมดเดน และเทเพสตรีย์ อิงค์ เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมcambo

ความน่าสนใจต่อการเข้าลงทุนในกัมพูชา ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดทางให้สินค้าบางประเภทที่ผลิตจากกัมพูชา สามารถเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐได้ โดยไม่ต้องเสียภาษี แม้จะมีการขึ้นภาษีสินค้าจากประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่หลายรายในปีนี้ก็ตาม

“การเปลี่ยนแปลงกำลังดำเนินการอยู่” สตีฟ ลามาร์ รองประธานบริหารสมาคมรองเท้า และเครื่องนุ่งห่มสหรัฐกล่าว และว่า การพูดคุยในเรื่องการเพิ่มอัตราจัดเก็บภาษีนำเข้า ได้สร้างความตึงเครียดอย่างมาก และบริษัทต่างๆ ก็พากันเร่งโยกย้ายฐานผลิตให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผลการศึกษาของสมาคมอุตสาหกรรมแฟชั่นสหรัฐ ที่เปิดเผยออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม แสดงให้เห็นว่า แม้บริษัทเกือบทั้งหมด ที่ดำเนินการสำรวจความติดเห็น จะมีแหล่งผลิตสินค้าอยู่ในจีน แต่ราว 67% ของบริษัทที่ตอบแบบสอบถาม คาดว่า จะลดมูลค่า หรือปริมาณการผลิตในจีนในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยที่มาตรการปกป้องทางการค้า ถูกจัดให้เป็นปัญหาใหญ่สุดของอุตสาหกรรม

ย้ายฐานการผลิต

เอ็ดเวิร์ด โรเซนเฟลด์ ซีอีโอสตีเวน แมดเดนผู้ผลิตรองเท้า และเครื่องประดับต่างๆ กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า บริษัทกำลังย้านฐานผลิตกรเป๋าถือจากจีนมาอยู่ที่กัมพูชา โดยคาดว่าราว 15% ของการผลิตกระเป๋าถือของบริษัทในปีนี้ จะมาจากกัมพูชา และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปีหน้า

ขณะที่ทาเพสตรีย์ บริษัทสินค้าหรูผู้อยู่เบื้องหลังสินค้าประเภทกระเป๋าถือ แบรนด์โค้ช และเคทสเปด ก็นำนโยบายทำนองเดียวกันนี้เข้ามาใช้ ด้วยการเพิ่มปริมาณการผลิตในเวียดนาม และเหลือการผลิตในจีนไว้ไม่ถึง 5%

ส่วนวีรา แบรดลีย์ ผู้ผลิตกระเป๋าถือ และกระเป๋าเดินทางชั้นนำอีกรายหนึ่ง เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า บริษัทกำลังหาช่องทางที่จะหาทางส่งสินค้าจากจีนไปผลิตในเวียดนาม และกัมพูชา

แรงจูงใจลงทุน

แมตต์ แวน รูสมาเลน ผู้จัดการประจำกัมพูชา จากอีเมิร์จจิง มาร์เก็ตส์ คอนซัลติง บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุน ที่มุ่งเน้นตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กัมพูชาเสนอแรงจูงใจด้านการลงทุนที่ค่อนข้างดีมาก อย่าง การยกเว้นภาษี

“ตามเท่าที่ยังมีการยกเว้นภาษีอยู่ บริษัทต่างๆ ก็จะให้ความสนใจที่จะเข้ามาดำเนินการผลิตในกัมพูชามากขึ้น”

ข้อมูลจากธนาคารกลางกัมพูชา แสดงให้เห็นว่า ในปี 2560 กัมพูชามียอดส่งออกรองเท้าเพิ่มขึ้น 25% ขณะที่ปริมาณการส่งออกสิ่งทอเพิ่มขึ้น 8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ

ทางด้านเวียดนาม ก็มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก แรงหนุนจากการเข้าลงทุนของต่างชาติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานหลายปี โดยเฉพาะจากการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่านับพันล้านดอลลาร์ จากบริษัทอย่าง ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ โค และอินเทล คอร์ป สถานการณ์ที่ช่วยหนุนให้ประเทศกลับกลายจากการเป็นผู้ส่งออกที่เน้นสินค้าโภคภัณฑ์การเกษตร อย่าง ข้าว และกาแฟ มาเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้

ไม่ใช่เรื่องง่าย

อย่างไรก็ดี ลามาร์ จากสมาคมรองเท้า และเครื่องนุ่งห่มอเมริกัน เตือนว่า ในความเป็นจริงแล้ว การย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก สาเหตุหนึ่งก็คือ ค่าแรงที่ถูก ไม่จำเป็นว่าจะสามารถชดเชยกับประสิทธิภาพในการผลิตได้

ระดับผลผลิตของกัมพูชาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับจีน ทำให้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับบรรดาผู้ผลิต ที่จะผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

ผลสำรวจที่จัดทำขึ้นโดยสภาพัฒนาฮ่องกง หน่วยงานด้านการส่งเสริมการค้า และการลงทุนของเกาะอาณานิคมแห่งนี้ แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตแรงงานโดยเฉลี่ยของแรงงานกัมพูชานั้น คิดเป็นสัดส่วนแค่เพียง 50-60% ของแรงงานจีนเท่านั้น

อีกเหตุผลหนึ่ง คือ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานของกัมพูชาที่ยังล้าหลังจีนอยู่ ซึ่งการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัมนั้น กัมพูชาอยู่อันดับที่ 106 จาก 137 ประเทศในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และลาว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเมือง ที่เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลสหรัฐ ระบุว่า การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคมของกัมพูชามีข้อบกพร่อง สถานการณ์ที่อาจทำให้สหรัฐ และยุโรปทบทวนนโยบายการค้าที่มีต่อกัมพูชา ซึ่งอาจนำไปสู่การระงับสิทธิพิเศษทางการค้าต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอกัมพูชา

Avatar photo