World News

‘ไวรัสโคโรนา’ กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมแย่ๆ ของชาวจีน

ผางฮุ้ย จัดวางตะเกียบเพิ่มจากปกติหลายคู่บนโต๊ะรับประทานอาหารของครอบครัว โดยไม่ได้คาดหวังว่าสมาชิกครอบครัวทั้ง 7 คน จะยินดีใช้ “ตะเกียบกลาง” เหล่านี้ แต่ผางต้องประหลาดใจไม่น้อย เมื่อคุณพ่อวัย 75 ปี ผู้ไม่ใยดีกับแนวคิดตะเกียบกลางมาตลอด กลับหันมาสนับสนุนการใช้ตะเกียบกลางอย่างแข็งขัน

ชาวจีนนั้นมักแบ่งปันอาหารให้กัน โดยใช้ตะเกียบของตนเองคีบ เพื่อแสดงความสนิทสนม ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ดูสุ่มเสี่ยงยามโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ระบาด

“เรารับรู้ได้ว่าเกิดวิกฤตและควรละเลิกนิสัยความเคยชินเก่าๆ หลังมีรายงานการติดเชื้อเป็นกลุ่มในครอบครัวเดียวกัน” ผาง วัย 40 ปี จากเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้กล่าว

fig 20 03 2020 12 32 37

ด้านรัฐบาลท้องถิ่นเมืองเป่ยไห่ที่ผางอาศัยอยู่รณรงค์การใช้ตะเกียบกลางหรือช้อนกลาง ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อข้าม (cross infection) ที่เกิดจากการใช้ตะเกียบส่วนตัว

หวงจงจวิน ประธานสมาคมอุตสาหกรรมการทำอาหารและการจัดเลี้ยงเป่ยไห่ เผยว่าสมาคมฯ จะชี้แนะและดูแลสมาชิกที่เป็นร้านอาหาร ซึ่งรวมถึงร้านค้าของโรงเรียนและวิทยาลัยต่างๆ “เราจะมอบรางวัลแก่เหล่าสมาชิกที่จัดเตรียมตะเกียบกลางและช้อนกลางให้ลูกค้าตลอดช่วงการออกสุ่มตรวจสอบติดต่อกัน 3 ครั้ง” หวงกล่าว

เมืองอื่นๆ อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และหางโจว พากันประยุกต์ใช้มาตรการลักษณะเดียวกันมากระตุ้นการใช้ตะเกียบกลางหรือช้อนกลางเพื่อลดเสี่ยงติดโรคระบาดด้วย

อย่างไรก็ดี ช้อน-ตะเกียบกลางมิใช่ปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมเพียงหนึ่งเดียว ที่กลายเป็นกระแสยามเกิดโรคระบาดในจีน ที่ให้ค่าความสนิทชิดใกล้มากกว่าการเว้นระยะทางสังคม

XxjpbeE007776 20200313 PEPFN0A001 scaled 1

ณ นครไห่โข่ว เมืองเอกของมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทิวแถวเข้าร้านค้าปลอดภาษีดูยาวกว่าปกติ เพราะมีการใช้มาตรการอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร นักท่องเที่ยวแซ่เหรินจากเมืองหางโจวบอกว่า คนส่วนใหญ่รักษาระยะห่างกันเวลาจ่ายเงินหรือใช้ตู้เอทีเอ็ม เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและความรู้สึกปลอดภัย

ทว่าตอนนี้ระยะห่างเหล่านั้นถ่างออกยิ่งขึ้นอีกตลอดทั้งแถว เพราะทุกคนต่างกังวลและเป็นห่วงสุขภาพร่างกายของตัวเอง

“จีนทำให้ประชาชนจริงจังกับการป้องกันและการหยุดแพร่โรคระบาดสำเร็จ” เหรินกล่าว พร้อมเสริมว่าเธอจะยังคงใช้วิธีห่างกัน 1 เมตรต่อไป แม้โรคระบาดสิ้นสุดแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนดำเนินการรณรงค์ทั่วประเทศให้สาธารณชนหลีกเลี่ยงการรวมตัว สวมหน้ากากอนามัย และปรับวิถีชีวิตที่เน้นการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ

นครปักกิ่งกำลังพิจารณาการแก้ไขข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มมาตราที่ส่งเสริมการปิดปากและจมูกด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือศอกเวลาไอจาม รวมถึงสวมหน้ากากนามัยหากเป็นหวัด

หวังเหยียน เจ้าของร้านล้างรถในเมืองหลางฝางของมณฑลเหอเป่ย เล่าว่าเธอถูกสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กให้ใช้ฝ่ามือปิดปากเวลาไอหรือจาม

“ฉันเพิ่งรู้เมื่อไม่นานนี้ว่าทำแบบนั้น แบคทีเรียและไวรัสจะค้างอยู่บนมือ แถมลามไปอยู่บนทุกอย่างที่ฉันจับต้อง” หวัง วัย 36 ปี ที่ตอนนี้ได้สอนลูกๆ ให้รู้จักวิธีที่ถูกต้องด้วยแล้วกล่าว

fig 20 03 2020 12 42 36

ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนยังมุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมการรับประทานสัตว์ป่า ที่อาจหายากมากขึ้นในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาแต่ยังคงพบได้ในบางพื้นที่

อนึ่ง จีนระงับการค้าและการขนส่งสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายหลังเกิดโรคระบาดไม่นาน และสั่งห้ามถาวรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตามมติสภานิติบัญญัติของประเทศ

หลี่โป๋ จากศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าระหว่างประเทศไห่หนาน กล่าวว่าการบริโภคสัตว์ป่านำไปสู่การสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ความสมดุลทางนิเวศวิทยาเสียหาย และบั่นทอนสุขภาพประชาชน

“โรคระบาดครั้งใหญ่อาจกลายเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ที่มาช่วยขจัดนิสัยแย่ๆ ให้หมดไปก็ได้”

ที่มาสำนักข่าวซินหัวไทย

Avatar photo