ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ธุรกิจนิวอีโคโนมีของจีน น่ากังวลมากกว่ารัฐวิสาหกิจ เหตุส่งสัญญานผิดนัดชำระหนี้พุ่ง หวั่นกระทบสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดทำรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจจีน โดยระบุว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2562 ตลาดการเงินของจีนกลับมามีประเด็นอีกครั้งจากข่าวการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนจีนในตลาดสารหนี้ที่มูลค่าการผิดนัดชำระหนี้ตามมูลค่าหน้าตั๋วหรือ Face value ของตราสารหนี้ภาคเอกชนภายในประเทศทั้งปี 2562 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 1.34 แสนล้านหยวน (ราว 5.8 แสนล้านบาท)
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนจีนในช่วงนี้เทียบกับช่วงปี 2559 ซึ่งเป็นระลอกแรกของปัญหาข้างต้น ความท้าทายของความสามารถในการชำระหนี้ในปัจจุบัน บริษัทเอกชนจีน (Privately-owned enterprises) กลับกลายมาเป็นกลุ่มธุรกิจที่น่ากังวลมากกว่ารัฐวิสาหกิจ
สะท้อนได้จากรายงานของ Fitch ratings ที่พบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 สัดส่วนจำนวนบริษัทเอกชนจีนที่ผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้มีถึงราว 4.5% ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ารัฐวิสาหกิจจีนซึ่งอยู่เพียง 0.2% เนื่องจากกลุ่มธุรกิจที่เริ่มน่าเป็นห่วงนั้นไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมหนักที่มีอุปทานส่วนเกินอยู่ค่อนข้างมากอย่าง เหล็ก ถ่านหิน วัสดุก่อสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่วนมากบริหารโดยรัฐวิสาหกิจ (State-owned enterprises) เหมือนที่จีนประสบในช่วงปี 2559 หากแต่กลับพบได้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น
เมื่อเจาะลึกลงไปในกลุ่มธุรกิจที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา พบว่า กลุ่มธุรกิจในเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New economy) เริ่มมีสัญญาณผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น อาทิ ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตและซอฟต์แวร์ ธุรกิจที่ปรึกษาทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) หรือธุรกิจอุปกรณ์สื่อสาร สอดคล้องกับภาวะชะลอตัวในกลุ่มธุรกิจเศรษฐกิจกระแสใหม่ที่สะท้อนได้จาก China Monthly New Economy Index ในเดือน ธ.ค. 2562 ซึ่งอยู่ที่ 29.0% ลดลงจากช่วงปลายปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 31.4%
นอกจากนี้ ความกังวลในภาคอุตสาหกรรมของจีนที่แผ่ขยายวงกว้างออกไปยังกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น ยังอาจยิ่งส่งผลต่อความเปราะบางของธนาคารพาณิชย์จีน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็ก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กของจีนเหล่านี้พึ่งพิงแหล่งเงินทุนผ่านการกู้ยืมจากตลาดเงินหรือตลาดทุน ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง จนอาจเผชิญความท้าทายต่อความสามารถในการชำระหนี้คืนในตลาดเงินหรือตลาดทุน
ดังนั้น หากธนาคารเหล่านี้ประสบภาวะคุณภาพสินเชื่อที่ถดถอยตามภาวะเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวต่อเนื่อง โดยข่าวการเข้าควบคุมกิจการธนาคารท้องถิ่นแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 ปี โดยทางการจีนเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงด้านเครดิต รวมถึงข่าวการอัดฉีดสภาพคล่องให้กับอีก 2 ธนาคารท้องถิ่นจีนที่มีปัญหา อาจสะท้อนจุดเริ่มต้นความท้าทายของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กของจีน
ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กของจีนนี้อาจไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบในระยะสั้น เนื่องจากธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปัญหาข้างต้นมีสัดส่วนขนาดสินทรัพย์ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของขนาดสินทรัพย์รวมของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดของจีน
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามพัฒนาการของภาวะเศรษฐกิจจีนอย่างใกล้ชิดที่อาจส่งผลต่อคุณภาพของสินเชื่อของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ในระยะข้างหน้า โดยจากรายงานผลการทดสอบภาวะวิกฤตล่าสุดของธนาคารกลางจีนเมื่อเดือน พ.ย. 2562 ระบุว่า จำนวนธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนของจีนในสัดส่วนกว่า 13.3% ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “เสี่ยงสูง” ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการประเมินในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ราว 10%
ขณะที่เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอาจส่งผลให้สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special mentioned loans) ที่สูงเกือบ 3% ของสินเชื่อรวมอาจจะกลายมาเป็นหนี้เสียได้ในอนาคต อีกทั้งอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1 capital adequacy ratio) ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์จีนโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงมากนักเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ของประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย จนอาจไม่เพียงพอต่อการรองรับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจจริงในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับทางการจีนต้องเร่งจัดการ