World News

‘สงครามการค้า’ ทำส่งออกเอเชียปี 62 ทรุดหนักสุดรอบ 10 ปี

รายงานเอสแคป ชี้ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้การค้าในปี 2562 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ตกอยู่ในภาวะเลวร้ายสุด นับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกเมื่อ 10 ปีก่อน

port 614543 640

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุด ที่แสดงให้เห็นว่า ปี 2562 จะเป็นปีแรกในรอบทศวรรษ ที่เศรษฐกิจเอเชีย แปซิฟิค มีปริมาณการค้า และบริการลดลง ทั้งในแง่ของปริมาณ และมูลค่า

ในแง่ของปริมาณนั้น คาดว่า ยอดรวมการส่งออกตลอดทั้งปีจะร่วงลง 2.5% และการนำเข้าดิ่งลง 3.5% ซึ่งแรงกดดันจากราคาที่ลดลง จะทำให้มูลค่าการส่งออก และนำเข้า อาจร่วงลงมา 3.6% และ 4.8% ตามลำดับ

เอสแคปประเมินด้วยว่า ในแง่ของมูลค่านั้น ยอดการส่งออกตลอดทั้งปี 2562 ของจีน จะลดลงราว 1.4% ฮ่องกงลดลง 4.8% และสิงคโปร์ดิ่งลงถึง 14.9% ซึ่งทั้ง 3 เศรษฐกิจนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ประเทศที่มีการส่งออก และนำเข้าทรุดหนักสุดในเอเชีย แปซิฟิค คือ อิหร่าน ที่โดนมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐ ทำให้ยอดส่งออกทรุดลง 32.4% และนำเข้าร่วงลง 19.7%

รายงานคาดการณ์ด้วยว่า ประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย แปซิฟิค จะตกอยู่ในสถานการณ์การค้าที่ย่ำแย่กว่าประเทศกำลังพัฒนา อย่างเช่น เวียดนาม ที่ได้รับประโยชน์จากการที่สหรัฐขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน ด้วยการกลายเป็นซัพพลายเออร์ทางเลือกสำหรับสินค้าที่จะส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในปีนี้เพิ่มขึ้น 4.4% และอีก 5.8% ในปีหน้า

ในทางกลับกัน มูลค่าการส่งออกของประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคนี้ รวมถึง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ต่างมีแนวโน้มที่จะลดลงราว 6.9% ในปีหน้า เทียบกับการลดลงโดยเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่ 2.6%

“ในปีหน้า มีความเป็นไปได้การส่งออก และนำเข้าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยราว 1.5% และ 1.4% ตามลำดับ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า ข้อตกลงการค้าชั่วคราวของจีน และสหรัฐ จะสามารถลดความไม่แน่นอนในด้านนโยบายได้มากน้อยเท่าใด”

รายงานยังชี้ว่า แม้สหรัฐ และจีนจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าในส่วนแรกแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงหลงเหลืออยู่ จากมาตรการอื่นๆ ที่อาจนำเข้ามาบังคับใช้ ซึ่งความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใส และการแทรกแซงตลาด ยังคงมีอยู่

ทางด้านนางมิญา มิกิค ผู้อำนวยการการค้า การลงทุน และนวัตกรรมของเอสแคป เตือนด้วยว่า หากสงครามการค้ายังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อาจสร้างความเสียหายให้กับประสิทธิภาพของซัพพลายเชน เนื่องจากบริษัทที่ทำหน้าที่รับรองความต้องการในจีน และตลาดพัฒนาแล้วอื่นๆ จะถูกบีบให้ต้องลงทุนซ้ำซ้อนในหลายพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น จากการดำเนินงานในห่วงโซคุณค่าโลก แต่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนระดับต่ำ

Avatar photo