World News

ฟิลิปปินส์อนุมัติ ‘ข้าวจีเอ็มโอ’ แก้ปัญหาขาดสารอาหาร

เจ้าหน้าที่คุมกฎระเบียบฟิลิปปินส์อนุมัติข้าวตัดแต่งพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อรับมือการขาดวิตามิเอ

EMJlXCBUwAQJrZY

ข้าวตัดแต่งพันธุกรรมนี้ มีชื่อสายพันธุ์ว่า “โกลเดน ไรซ์” หรือ ข้าวสีทอง ซึ่งบรรดาผู้สนับสนุนระบุว่า จะช่วยรักษาอาการขาดวิตามินเอ ที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) ชี้ว่า คร่าชีวิตเด็กทั่วโลกมากถึงปีละ 250,000 ราย และยังทำให้เด็กตาบอดร่วม 500,000 รายต่อปี

โกลเดน ไรซ์ ยังถือเป็นข้าวจีเอ็มโอสายพันธุ์แรก ที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับปัญหาด้านสาธารณสุข ที่ได้รับไฟเขียวจากเจ้าหน้าที่ควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารในประเทศกำลังพัฒนา

ตลอดระยะเวลาการปรับปรุงสายพันธุ์นั้น โกลเดน ไรซ์ ถูกกลุ่มผู้ต่อต้านจีเอ็มโอ คัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลถึงเรื่องความปลอดภัย และประเด็นอื่นๆ ทั้งเมื่อปี 2556 บรรดาผู้ประท้วงยังเคยบุกเข้าไปทำลายแปลงนาทดลองในฟิลิปปินส์มาแล้ว

สำนักงานอุตสาหกรรมพืช กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ ระบุว่า โกลเดน ไรซ์ปลอดภัยเหมือนกับข้าวแบบดั้งเดิมทั่วไป ซึ่งเจ้าหน้าที่คุมกฎระเบียบในสหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ล้วนแต่อนุมัติในเรื่องความปลอดภัยของข้าวพันธุ์นี้

เอเดรียน ดูบ็อค เลขาธิการบอร์ดมนุษยธรรมโกลเดน ไรซ์ องค์กรไม่หวังผลกำไร ที่นำข้าวโกลเดน ไรซ์ จากห้องทดลอง มาปลูกในนาข้าว กล่าวว่า เป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่อย่างมาก ที่สามารถเดินมาจนถึงขั้นตอนนี้ หลังจากที่ดำเนินการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวมานานถึง 20 ปี

ในการพัฒนาข้าวจีเอ็มโอนี้ นักวิทยาศาสตร์นำยีนส์ 2 ตัว ซึ่งตัวหนึ่งมาจากข้าวโพด และอีกตัวหนึ่งมาจากแบคทีเรียในดิน ใส่เพิ่มเข้าไปในพันธุกรรมของข้าว ซึ่งจะทำให้ข้าวที่ตัดต่อพันธุกรรมออกมาสามารถผลิตเบต้า แคโรทีน สารตั้งต้นของวิตามินเอ ที่ทำให้แครอท และมันเทศ เป็นสีส้ม ทั้งยังมีการเพิ่มยีนแบคทีเรียตัวที่ 3 เข้าไปเพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้

สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (อีร์รี) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์ข้าวจีเอ็มโอนี้ ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีเด็กที่ขาดวิตามินเอเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 15.2% ของจำนวนเด็กโดยรวมทั่วประเทศในปี 2551 มาอยู่ที่ 20.4% ในปี 2556 แม้ว่ารัฐบาลจะดำเนินโครงการส่งเสริมโภชนาการแล้วก็ตาม ซึ่งโกลเดน ไรซ์ จะช่วยจัดหาวิตามินเอให้กับเด็กๆ ได้ราวครึ่งหนึ่งของความต้องการในแต่ละวัน

roooo

ทั้งนี้ บรรดาผู้สนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพ ต่างชื่นชมโกลเดน ไรซ์ว่า เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดถึงสิ่งที่เทคโนโลชีวภาพสามารถทำได้ คือ การปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ที่ให้ประโยชน์แก่มนุษย์ได้เร็วกว่าการเพาะปลูกหรือเพาะเลี้ยงแบบดั้งเดิม

แต่เหล่าผู้คัดค้านกลับชี้ว่า พืชตัดต่อพันธุกรรมนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่มีใครรู้ว่าคืออะไรขึ้น แม้ว่าผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ จะแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ตัดต่อพันธุกรรมหลากหลายชนิดในตลาดทุกวันนี้ รวมถึง โกลเดน ไรซ์ มีความปลอดภัยก็ตาม

กลุ่มนักวิจารณ์กังวลด้วยว่า ภาคธุรกิจที่พัฒนาพืชจีเอ็มโอนั้น จะมีอิทธิพลอย่างล้นหลามต่อการจัดหาเมล็ดพันธุ์ ทั้งเมื่อพิจารณาจากระยะเวลา ความพยายาม และเม็ดเงินที่ใช้จ่ายไปกับการพัฒนาโกลเดน ไรซ์ ก็น่าจะนำไปใช้ในการจัดโครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคอย่างหลากหลายให้กับผู้ที่ขาดสารอาหารจะดีกว่า

Avatar photo