World News

‘ออนไลน์’ ยึดตลาดบ้านเกิด บีบ ‘ค้าปลีกเกาหลีใต้’ แห่เข้าตลาด ‘เวียดนาม’

บรรดาผู้ค้าปลีกเกาหลีใต้ ที่กำลังเจอกับภาวะตลาดซบเซาในบ้านเกิด กำลังเดินตามรอยกลุ่มผู้ผลิตร่วมชาติ อย่าง ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ และ แอลจี อิเลคทรอนิกส์ เข้ามาลงทุนในเวียดนาม หลังจากประชากรของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้มีรายได้เพิ่มสูงขึ้น จากเมื่อหลายสิบปีก่อนอย่างมาก

กระนั้นก็ตาม การเข้ามาเจาะตลาดใหม่นี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะตลาดค้าปลีกเวียดนามมีผู้เล่นอยู่เป็นจำนวนมาก และยังมีการแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งจากแบรนด์ท้องถิ่น และญี่ปุ่น คู่แข่งรายสำคัญของผู้ค้าปลีกแดนโสมขาว

“ล็อตเต้ ชอปปิง” เป็นผู้ค้าปลีกเกาหลีใต้รายแรก ที่เข้ามาในตลาดเวียดนามเมื่อปี 2551 ปัจจุบันมีซูเปอร์มาร์เก็ต “ล็อตเต้ มาร์ท” อยู่ 14 สาขาทั่วประเทศ และมีห้างสรรพสินค้า 1 แห่งในกรุงฮานอย

1 7

ผู้ค้าปลีกเกาหลีใต้รายที่ 2 ที่ตามล็อตเต้เข้ามาในเวียดนาม คือ “อี-มาร์ท” ที่เปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของบริษัทในนครโฮจิมินห์ ซิตี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งหลังจากประสบความสำเร็จด้วยดีกับร้านค้าแห่งแรกนี้ อี-มาร์ท ก็มีแผนที่จะเปิดสาขาใหม่ ที่เมืองนี้ในปีหน้า

ในรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ประกาศเมื่อเดือนที่แล้ว อี-มาร์ท ระบุว่า ร้านสาขาแรกของบริษัทในเวียดนาม สามารถรักษาแนวโน้มการเติบโตในระดับสูงไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ผลจากที่บริษัทสร้างความแตกต่างจากผู้ค้าปลีกรายอื่นๆ ด้วยการนำเสนอสินค้าเกาหลีอย่างหลากหลาย รวมถึง อาหาร และเบเกอรี

ขณะเดียวกัน “จีเอส รีเทล” จับมือกับ “ซัน คิม กรุ๊ป” ของเวียดนาม ตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมา เพื่อบริหารร้านสะดวกซื้อแบรนด์ “จีเอส25” ที่มีอยู่ทั้งหมด 54 สาขาด้วยกัน
การรุกเข้ามาในตลาดเวียดนามดังกล่าว ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผู้เล่นออนไลน์ เข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกบ้านเกิดอย่างต่อเนื่อง

ไนซ์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อเกาหลีใต้ ชี้ว่า อี-มาร์ท และล็อตเต้ ชอปปิง มีแนวโน้มที่จะโดนลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาในปี 2563 จากการที่ทั้ง 2 บริษัทต้องดิ้นรนอย่างหนัก เพื่อรับมือกับการแข่งขันจาก “คูปัง ” อีคอมเมิร์ซที่มีซอฟท์แบงก์ คอร์ป ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่นให้การสนับสนุนอยู่ และจาก “มาร์เก็ต เคอร์ลี” บริษัทให้บริการจัดส่งอาหาร

“การที่บริษัทออนไลน์มีอิทธิพลในตลาดมากขึ้น ทำให้การเติบโตของผู้ค้าปลีกออฟไลน์ชะลอตัวลงในปี 2562 ทั้งจะมีการขยายตัวของรายได้อย่างจำกัดในปี 2563 เพราะต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง รวมถึง ค่าใช้จ่ายด้านการจัดส่ง และการทำการตลาดที่สูงขึ้น” อัน ยังบก ผู้อำนวยการไนซ์ กล่าว

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ ความต้องการผู้ค้าปลีกออฟไลน์หดตัวลงอย่างหนัก เพราะจำนวนประชากรสูงวัยของเกาหลีใต้มีมากขึ้น และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนที่เลือกอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น ทำให้เกิดแนวโน้มที่จะซื้อของออนไลน์อยู่ที่บ้านมากขึ้น แทนการเดินทางไปยังร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม

79578677 2729037573990186 3124055071038373888 o

ข้อมูลจากรัฐบาลเกาหลีใต้ แสดงให้เห็นว่า ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมค้าปลีกเกาหลีใต้มียอดขายโดยรวมอยู่ที่ 16.7 ล้านล้านวอน ลดลงมา 100,000 ล้านวอนจากไตรมาสก่อนหน้านี้ ขณะที่ยอดขายร้านค้าออนไลน์โดยรวมเพิ่มขึ้น 300,000 ล้านวอน มาอยู่ที่ 8.1 ล้านล้านวอน

ในสายตาของผู้ค้าปลีกเกาหลีใต้แล้ว เวียดนามกลายเป็นตลาดที่นำเสนอโอกาสต่างๆ ที่หายไปในบ้านเกิดให้กับพวกเขา

ระหว่างปี 2556-2561 ภาคค้าปลีกเวียดนามมีอัตราการเติบโตของทุนโดยเฉลี่ยสูงถึง 10.97% และคาดว่า รายได้ค้าปลีกโดยรวมจะพุ่งถึง 180,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2561 ถึง 26.6%

กระนั้นก็ตาม โอกาสอันยิ่งใหญ่ก็ดึงดูดการแข่งขันอย่างรุนแรงมาด้วย ไม่ใช่แค่จากแบรนด์ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยัวรวมถึง คู่แข่งจากญี่ปุ่น ที่เดินหน้ารุกเข้ามาในตลาดเวียดนามอย่างหนักเมื่อเร็วๆ นี้ รวมถึง ยูนิโคล่ เชนร้านเสื้อผ้าแฟชั่น ในเครือฟาสต์ รีเทลลิง ที่ในเดือนนี้ เพิ่งเปิดสาขาแรกในเวียดนาม ดึงดูดลูกค้าเข้าร้านในวันแรกเป็นจำนวนมาก

Avatar photo