World News

‘Shale Oil’ ยุคแห่งการปฏิวัติพลังงานสหรัฐ

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การผลิตน้ำมันจากหินดินดาน หรือเชลออยล์ (shale oil) ในสหรัฐ เริ่มส่งสัญญาณถึงการชะลอตัว และการเติบโตของการผลิตอาจจะช้าลง แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ยุคแห่งการปฏิวัติเชลออยล์ของสหรัฐ ยังไม่สิ้นสุดลงในเร็ววันนี้แน่

000 G361E

พลังงานจากชั้นหินดินดานคืออะไร

พลังงานจากชั้นหินดินดาน (shale energy) เป็นน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ ภายใต้ชั้นหินดินดานเป็นเวลาหลายร้อยล้านปี ซึ่งหินดินดานมีความหนาแน่นสูง ทำให้น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติไหลผ่านได้ยาก ซึ่งในอดีตนั้นถือเป็นทรัพยากรที่นำขึ้นมาใช้ได้ยาก ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และไม่คุ้มค่ากับการผลิตในเชิงพาณิชย์

สหรัฐเป็นผู้ค้นพบ และพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดานเป็นรายแรกๆ ของโลก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีแหล่งพลังงานชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมากติดอันดับต้นๆ ของโลก

ต้นทุนการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันจากชั้นหินดินดานต่ำลงอย่างมาก จากการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการขุดเจาะอย่างต่อเนื่องจนประสบความสําเร็จ ได้วิธีการขุดเจาะที่รู้จักกันในชื่อ “fracking” ซึ่งเป็นการนำเทคนิคการขุดเจาะ 2 อย่าง คือ การใช้แรงดันสูงผสมสารเคมีและทรายเพื่อให้หินดินดานร้าว ร่วมกับการขุดเจาะตามแนวนอนมารวมเข้าด้วยกัน

อย่างไรก็ดี เทคนิคที่ใช้ในการขุดเจาะนี้ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะสารเคมีที่นำมาใช้ จะกระจายเข้าไปยังแหล่งน้ำใต้ดิน และยังอาจเกิดการรั่วไหลของน้ำมันเข้าสู่สภาพแวดล้อมด้วย

สหรัฐยังเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งจากการเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ได้ก่อนประเทศอื่นๆ รวมถึง ยังมีกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนของบริษัทเอกชน จากการให้กรรมสิทธิ์พลังงานชั้นหินดินดานที่อยู่ใต้พื้นดินให้เป็นของเจ้าของที่ดิน และยังมีแหล่งน้ำมากพอ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับขั้นตอนทำ fracking

000 1MN9YO

ส่งผลดีทั้งทางตรง-ทางอ้อมต่อเศรษฐกิจ

สหรัฐมีความสามารถในการผลิตพลังงานจากชั้นหินดินดาน ทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โดยมีอัตราการเติบโตของปริมาณการผลิตเกือบ 40% ต่อปี

นับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของ 2557 เป็นต้นมา เชลออยล์ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมากขึ้น เและกลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็ว

พลังงานประเภทนี้ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐทั้งโดยตรง และทางอ้อม

ในทางตรงนั้น ทำให้เกิดการลงทุน และจ้างงานในภาคพลังงาน ส่วนทางอ้อมนั้น เป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตในสหรัฐ เพราะราคาน้ำมันถูกลง ส่งผลต่อเนื่องถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ กล่าวคือ ราคาพลังงานที่ถูกลง ทำให้ครัวเรือนสามารถบริโภคพลังงานได้ในระดับเดิมแต่จ่ายเงินน้อยลง ทำให้มีเงินเหลือที่จะนำไปใช้จ่ายกับสินค้า และบริการอื่นๆ

ราคาพลังงานที่ถูกลงนี้ ยังจะทำให้การผลิตสินค้าที่ต้องใช้น้ำมันในการผลิตมีราคาถูกลงด้วย เอื้อต่อการเพิ่มผลผลิตในภาคธุรกิจอื่นๆ ช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยลดการขาดดุลการค้า และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอีกด้วย

000 Was6396523

ผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิปี 2563

เทคนิคการขุดเจาะที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้การผลิตเชลออยล์ของสหรัฐ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนสามารถผลิตน้ำมันได้มากขึ้น ด้วยแท่นขุดเจาะที่น้อยลง

ความสามารถดังกล่าว ทำให้สหรัฐมีแนวโน้มที่จะกลายมาเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานด้วยตัวเองได้ภายในปี 2563

ข้อมูลจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงาน (อีไอเอ) ของสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า แม้การขยายตัวในการขุดเจาะจะชะลอตัวลง แต่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโดยรวมจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป จากที่เคยผลิตได้ปริมาณเฉลี่ยรายปีสูงเป็นประวัติการณ์ ที่ 11 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2561 สหรัฐจะมีปริมาณการผลิตเชลออยล์โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2562 และ 13.2 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2563

อีไอเอประเมินด้วยว่า ตัวเลขการผลิตดังกล่าว จะทำให้ปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ และปิโตรเลียมสุทธิของสหรัฐจากระดับ 520,000 บาร์เรลต่อวันในปีนี้ จะกลายเป็นการส่งออกสุทธิเฉลี่ยที่ 750,000 บาร์ต่อวันในปีหน้า

หลังจากที่สหรัฐกลายมาเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 แล้ว สหรัฐจะยังคงอยู่ในสถานะนี้ต่อเนื่องไปอีกหลายปี โดยคาดว่า การผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ไปจนถึงปี 2570 ก่อนที่จะค่อยลดลง

สถานะการเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสุทธินี้ยังเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์กันว่า สหรัฐจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปี 2565

Avatar photo