World News

หวั่นเกิดวิกฤติ!! หนี้นอกประเทศ 6 ชาติอาเซียนพุ่ง

6 ชาติเอเชียตะวันตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การนำของลาว มีหนี้ภายนอกประเทศปรับตัวขึ้นอย่างมาก สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณหนี้นอกประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จุดชนวนความวิตกว่า ภูมิภาคนี้อาจตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติหนี้ขึ้นมาได้

debt

เอฟที คอนฟิเดนเชียล รีเสิร์ช (เอฟทีซีอาร์) เปิดเผยรายงานวิเคราะห์ข้อมูลของธนาคารโลกที่แสดงให้เห็นว่า ลาวเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ภายนอกประเทศต่อรายได้ประชาชาติ สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ 93.1% เทียบกับระดับเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาโดยรวมที่ 26% ซึ่งกัมพูชา และเวียดนาม ก็มีหนี้อยู่ในระดับสูงเช่นกัน

รายงานชี้ว่า ภาระหนี้ของลาวนั้น เป็นผลมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน

ตัวอย่างสำหรับเรื่องนี้ รวมถึง โครงการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อเมืองคุนหมิงทางตอนใต้ของจีน เข้ากับนครหลวงเวียงจันทน์ มูลค่า 5,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 40% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของลาว

Lao China

นอกจากนี้ ราว 2 ใน 3 ของหนี้ลาว อยู่ในรูปของเงินสกุลต่างประเทศ ซึ่งหากเงินกีบ สกุลเงินหลักของประเทศ อ่อนค่าลงอย่างกระทันหัน จะกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่สุดต่อเสถียรภาพหนี้ของประเทศ

ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ได้ออกมาระบุว่า ลาวเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาหนี้ขึ้นมา แม้ว่ารัฐบาลเวียงจันทน์จะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็ตาม

เช่นเดียวกับมาเลเซีย ที่มีหนี้นอกประเทศแตะระดับ 69% ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด มีคำสั่งให้เปิดเจรจารอบใหม่ใน 4 โครงการที่มีมูลค่าสูงมาก และได้รับการอนุมัติในสมัยอดีตนายกกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก รวมถึง โครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมพอร์ตกลัง ท่าเรือที่คับคั่งสุดของประเทศ เข้ากับชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย มูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ บรรดาประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างตระหนักถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในเอเชียใต้ ที่เมื่อเร็วๆ นี้ ศรีลังกาต้องให้บริษัทจีนเข้ามาบริหารท่าเรือทางยุทธศาสตร์แห่งใหม่นาน 99 ปี เพราะไม่สามารถชำระหนี้ค่าก่อสร้างได้

อย่างไรก็ดี ระดับหนี้ของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูงกว่าของประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ ที่มีเพียงประเทศเล็กๆ อย่าง ภูฏาน และศรีลังกา ที่มีสัดส่วนหนี้นอกประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ย

GettyImages 497199178

ข้อมูลจากไอเอ็มเอฟ แสดงให้เห็นด้วยว่า 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีหนี้มากสุด ต่างมีภาระหนี้ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กัมพูชา ลาว และเวียดนาม

กัมพูชามีหนี้นอกประเทศเพิ่มถึง 142% เป็นการปรับขึ้นมากสุดในภูมิภาค และปัจจุบันมีสัดส่วนหนี้นอกประเทศ ต่อรายได้ประชาชาติที่ 54.4% โดยมีจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่สุด มากถึง 70% ของยอดหนี้ต่างประเทศโดยรวมเมื่อปี 2559

กระนั้นก็ตาม เอฟทีซีอาร์ เชื่อว่า กัมพูชามีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติหนี้น้อยกว่าลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 3 ประเทศ ที่มีสัดส่วนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศต่อหนี้นอกประเทศระยะสั้น ในระดับต่ำ

นับถึงปี 2559 มาเลเซียมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ สูงกว่าหนี้ต่างชาติที่มีกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี เพียงแค่ 1.1 เท่าเท่านั้น ส่วนไทยและเวียดนาม อยู่ในสถานะที่ดีกว่า จากการมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงกว่าหนี้นอกประเทศระยะสั้นราว 6.1 เท่า

ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ยังมีสัดส่วนหนี้นอกประเทศต่อมูลค่าการส่งออก ซึ่งธนาคารโลกใช้เป็นตัวประเมินความสามารถของประเทศในการชำระหนี้ ย่ำแย่หนักสุด โดยลาว และอินโดนีเซีย อยู่ที่ 327.9% และ 184.2% ตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศรายได้ปานกลาง และต่ำที่ 107% อย่างมาก ส่วนมาเลเซียอยู่ที่ 94.5%

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight