World News

เจาะลึกสหรัฐมองไทยใน ‘รายงานค้ามนุษย์ 2018’

รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ ประจำปี 2561 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ปรับสถานะของไทยขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม “เทียร์ 2” จากเดิมที่ระดับ “เทียร์ 2 ต้องจับตามอง”

2018 tip report cover 200 1

รายงานระบุว่า รัฐบาลไทยยังไม่สามารถทำตามมาตรฐานขั้นต่ำสุดสำหรับการกำจัดการค้ามนุษย์ได้ แต่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างมากที่จะดำเนินการในเรื่องนี้

ไทยมีการดำเนินความพยายามมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาในการจัดทำรายงานฉบับที่แล้ว ดังนั้น จึงมีการปรับอันดับไทยขึ้นมาอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2

รัฐบาลแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่มากขึ้นในการฟ้องร้อง และตัดสินคดีนักค้ามนุษย์มากขึ้น ทั้งยังลดขั้นตอนในการฟ้องร้องคดีค้ามนุษย์ ผ่านการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการต่อต้านค้ามนุษย์

นอกจากนี้ ยังมีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องสงสัยว่าจะสมรู้ร่วมคิดกับก่ออาชญากรรมในด้านนี้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 ได้มีการตัดสินคดีค้ามนุษย์กับเจ้าหน้าที่ 12 คน รวมถึง เจ้าหน้าที่ 11 คนที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ผู้อพยพชาวโรฮิงญา

รัฐบาลไทยยังได้มีการออกกฏข้อบังคับจำนวนหนึ่ง เพื่อเพิ่มการดูแลสถานที่พักพิงสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์ที่ดำเนินงานโดยกลุ่มเอ็นจีโอ และจัดหาการสนับสนุนด้านการเงินให้

รายงานยังให้ข้อแนะนำสำหรับไทยว่า ควรดำเนินการปรับปรุงความสามารถในการบังคับใช้กฎหมาย และการตรวจสอบแรงงาน ทั้งยังควรมีการตอบสนองในเชิงรุก และอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือจากการแยกแยะผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึง แรงงานอพยพ กลุ่มคนไร้รัฐ เด็ก และผู้ลี้ภัย

นอกจากนี้ ยังต้องทำให้แน่ใจว่าเหยื่อจะไม่ตกเป็นเป้าของการจับกุม โดนคุมขัง หรือเนรเทศ จากการก่ออาชญากรรมที่เป็นผลโดยตรงมาจากการค้ามนุษย์

tip

ทั้งยังต้องมีการตรวจสอบ ดำเนินคดีในเชิงรุก และลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดกับการค้ามนุษย์ นอกเหนือจากการพัฒนาความสามารถของผู้ที่รับเรื่องการร้องเรียนเป็นด่านแรก เพื่อบ่งชี้ และตัดสิน เกี่ยวกับการบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ขาดพยานหลักฐานทางกายภาพ

ไทยยังควรดำเนินการฝึกอบรมทีมสหวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพของการตรวจสอบเรือประมง ที่อาจส่งผลให้เกิดการระบุตัวเหยื่อ และดำเนินคดีอาญาได้

thai shrimp

รายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระบุด้วยว่า ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไทยถือเป็นแหล่งค้ามนุษย์ เป็นทั้งจุดหมายปลายทาง และประเทศทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก ที่จะโดนบังคับใช้แรงงาน และค้าประเวณี

การบังคับใช้แรงงานมักเกิดขึ้นในการทำประมงเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมสัตว์ปีก การผลิต เกษตรกรรม และงานในท้องถิ่น หรือโดนบังคับให้ไปขอทานตามท้องถนน

ยิ่งกว่านั้น อุตสาหกรรมขายบริการทางเพศของไทยยังคงเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการค้ามนุษย์ โดยผู้หญิง ผู้ชาย เด็กชาย และเด็กหญิงในไทย รวมถึงจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศรีลังกา รัสเซีย อุซเบกิสถาน และประเทศแอฟริกาบางประเทศ ตกเป็นเป้าของการถูกค้ามนุษย์ในด้านแรงงาน และบริการทางเพศในไทย

ไทยยังเป็นประเทศทางผ่านสำหรับเหยื่อค้ามนุษย์จากจีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดีย และเมียนมา ที่ตกเป็นเหยื่อการบังคับค้าประเวณี และบังคับใช้แรงงานในประเทศต่างๆ อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐ และประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก

roh

รายงานบอกด้วยว่า การคอร์รัปชั่นยังเป็นปัจจัยบั่นทอนความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่รัฐบางราย มีการสมรู้ร่วมคิดโดยตรงกับกลุ่มค้ามนุษย์ รวมถึง การสมรู้ร่วมคิดผ่านการรับสินบน หรือกู้เงินจากเจ้าของธุรกิจ และสถานที่ค้าประเวณี ที่มีการแสวงหาประโยชน์จากเหยื่อ ซึ่งรายงานที่น่าเชื่อถือหลายฉบับ บ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตบางราย ให้การปกป้องสถานค้าประเวณี และสถานที่ให้บริการทางเพศเชิงพาณิชย์แห่งต่างๆ ให้รอดพ้นจากการถูกบุกเข้าไปตรวจสอบ

พฤติกรรมทุจริตเช่นนี้ ยังทำให้แรงงานอพยพ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสาร มีความหวาดกลัวที่จะรายงานการค้ามนุษย์ และไม่กล้าให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้า เพราะไม่มีการตระหนักถึงสิทธิของแรงงานเหล่านี้ ทั้งยังไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ ทั้งในไทย และประเทศต้นทาง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight