World News

รัฐ-เอกชนญี่ปุ่น ผนึกกำลังพัฒนาแบตฯ รถไฟฟ้ารุ่นใหม่

ญี่ปุ่นผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน เร่งพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไออนแบบแข็ง ซึ่งอาจกลายเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่มีความปลอดภัย และมีพลังมากกว่าแบบที่ใช้ในรถไฟฟ้าในปัจจุบัน

japan

รายงานของเว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว ระบุว่า ค่ายรถยนต์รายใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น อย่าง โตโยต้า มอเตอร์ นิสสัน มอเตอร์ และฮอนด้า มอเตอร์ ต่างอยู่ในกลุ่ม 23 บริษัทที่ได้รับเลือกในโครงการความร่วมมือนี้ ที่เริ่มเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยองค์กรพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และพลังงานใหม่ (เนโด) ของญี่ปุ่น และมีผู้ผลิตแบตเตอรี่ อย่าง พานาโซนิค รวมอยู่ด้วย

เนโด ซึ่งเป็นองค์กรบริหารจัดการด้านการวิจัย ตั้งเป้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีหลักๆ ให้สำเร็จภายในปีงบประมาณ 2565 ท่ามกลางความหวังที่จะรักษาตำแหน่งผู้นำในด้านนี้ของญี่ปุ่นเอาไว้ให้ได้ โดยก่อนหน้านี้ เนโดเคยมีส่วนร่วมในการวิจัยแบตเตอรี่แบบแข็งกับเหล่าผู้ผลิตวัสดุชั้นนำจำนวนหนึ่ง

รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่มีสารละลายอิเล็กโทรไลต์เป็นส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งข้อมูลจากเทคโน ซิสเต็มส์ รีเสิร์ช บริษัทที่ปรึกษาในกรุงโตเกียว ระบุว่า พานาโซนิคเป็นผู้นำโลกในด้านแบตเตอรีเหล่านี้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่คาดว่าในปีนี้ ส่วนแบ่งในตลาดโลกของบริษัทจะลดลงเหลือแค่ 16% เท่านั้น จากที่เคยสูงถึง 44% เมื่อปี 2557

เจ้าตลาดแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในปัจจุบันตกเป็นของ “คอนเทมโพรารี แอมเพอเร็กซ์ เทคโนโลยี” หรือ CATL ของจีน ซึ่งได้มีการว่าจ้างวิศวกรระดับหัวกะทิจากต่างประเทศเข้ามาร่วมงานด้วย ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง

โครงการพัฒนาใหม่ล่าสุดของรัฐบาลญี่ปุ่นนี้ ยังตั้งเป้าที่จะลดค่าใช้จ่ายสำหรับแบตเตอรี่ลงมาให้อยู่ในระดับ 10,000 เยน หรือราว 3,000 บาท ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ภายในปี 2573 หรือราว 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในปัจจุบัน

งานวิจัยดังกล่าว ยังตั้งเป้าที่จะลดเวลาการชาร์จไฟให้เหลือเพียง 10 นาทีเท่านั้น หรือใช้เวลาแค่เพียง 1 ใน 3 ของเวลาชาร์จไฟสำหรับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนในปัจจุบัน

เค โฮโซอิ ผู้จัดการโครงการเนโด กล่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นมีความได้เปรียบในการพัฒนาแบตเตอรี่แบบแข็ง จากการที่สิทธิบัตรสำหรับแบตเตอรีประเภทนี้รายใหญ่ๆ มาจากบริษัทญี่ปุ่น

ขณะที่เออิจิ ฟูจิอิ ผู้บริหารพานาโซนิค รับผิดชอบด้านการวิจัยทรัพยากร และพลังงาน กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลิตแบตเตอรี่ บริษัทจะไม่ยอมให้คู่แข่งจากต่างประเทศ มาแซงหน้าในเรื่องแบตเตอรีแบบแข็ง

ส่วนโตโยต้า ที่รับบทผู้นำในโครงการนี้ ตั้งเป้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ได้ภายในต้นทศวรรษ 2020 ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มจำนวนพนักงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบใหม่ดังกล่าวขึ้นมาร่วม 50% มาอยู่ที่ประมาณ 300 คน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight