World News

อานิสงส์ ‘สงครามการค้า’ จีน-สหรัฐ หนุนเอเชียขายสินค้าพุ่ง 16%

ไพร้ซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ (พีดับเบิลยูซี) เผยรายงานฉบับล่าสุดระบุ ประเทศในเอเชียได้อานิสงส์จากกรณีพิพาทการค้าสหรัฐ-จีน ยอดสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐพุ่งกว่า 16%

vipoz7nghqb35c356e744e437

รายงานโกลบอล อีโคโนมิค วอทช์  ฉบับเดือนกรกฎาคมของพีดับเบิลยูซี  ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนลดลงราว 15% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ในภูมิภาค โดยสหรัฐนำเข้าสินค้าจาก 8 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม เพิ่มขึ้นกว่า 16%

“บางครั้งเศรษฐศาสตร์ก็ตามไม่ทันการเมือง แต่ตอนนี้เราได้เห็นข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีน แต่เป็นประโยชน์กับอีกหลายประเทศในภูมิภาค หากแนวโน้มเช่นนี้ดำเนินต่อไปก็จะมีส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วขึ้น โดยเฉพาะในเวียดนาม เกาหลีใต้ และไต้หวัน” ไมค์ เจคแมน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ พีดับเบิลยูซี ในสหราชอาณาจักร กล่าว

เขาบอกด้วยว่า ถ้าเป้าหมายหลักคือการจัดการกับความไม่สมดุลทางการค้า การขึ้นภาษีนำเข้าแบบ 2 ฝ่าย ก็ไม่ใช่เครื่องมือที่สมบูรณ์แบบ เพราะมาตรการทดแทนการนำเข้า มีแต่จะทำให้เกิดปัญหาเดิมกับประเทศอื่น เช่น เมื่อเวียดนามมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากกว่าจีน สหรัฐจึงขาดดุลการค้าเวียดนามเพิ่มขึ้นแตะ 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีนี้ เทียบกับ 9.3 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว

trade war afp

รายงานยังประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยอีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้ากระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและความต้องการสินค้าส่งออก

เจคแมน ระบุว่า ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกมีแนวโน้มไม่สดใสเท่ากับเมื่อ 18 เดือนก่อนอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงต้นปี 2561 เศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดและพร้อมเพรียงกันมากที่สุดนับตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการเงินโลก แต่หลังจากนั้น ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่รุนแรงขึ้น เศรษฐกิจที่ชะงักงันอย่างต่อเนื่องในยุโรป และเศรษฐกิจที่ล้มลุกคลุกคลานในตลาดเกิดใหม่ที่ขยายตัวช้า ได้ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายเปลี่ยนไป

“การที่เศรษฐกิจของตลาดสำคัญๆ อย่างสหรัฐ จีน และยูโรโซน ชะลอตัวลงในปี 2562 ไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐได้แรงหนุนจากมาตรการลดภาษีในปี 2561 ขณะที่รัฐบาลจีนเดินหน้าชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจยูโรโซนก็กำลังปรับฐานหลังจากขยายตัวสูงกว่าแนวโน้มในปี 2559-2560 แม้ว่าการที่เศรษฐกิจของสหรัฐ จีน และยูโรโซนชะลอตัวลงพร้อมกันจะเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่งอยู่”

ในส่วนของพลังงานโลกนั้นพีดับเบิลยูซี  พบว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ  และทิศทางนี้ มีแนวโน้มดำเนินต่อไป  ซึ่งการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นมีความสำคัญต่อการจำกัดภาวะโลกร้อน พร้อมกับรับประกันว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่อไป และประชากรโลกจะมีความมั่งคั่งมากขึ้น

รายงานยังระบุถึงสองปัจจัยที่ขับเคลื่อนแนวโน้มดังกล่าว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

Avatar photo