World News

‘รอดหรือล่ม’ จับตาท่าทียุโรป เมื่ออิหร่านแหกกฎ ผลิตยูเรเนียมเกินข้อตกลง

อิหร่านยืนยันผลิตยูเรเนียมในระดับสูงกว่าที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ส่งผลให้ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี ต้องตัดสินใจอย่างละเอียดอ่อนมากขึ้นในการหารือที่จะมีขึ้นไม่อีกกี่วันข้างหน้า ถึงวิธีที่จะตอบสนองต่อเรื่องนี้

000 1IH4M2

โฆษกสำนักงานพลังงานปรมาณูอิหร่าน ระบุว่า อิหร่านเริ่มผลิตยูเรเนียมที่ระดับ 4.5% ตั้งแต่ช่วงเช้าวันจันทร์ (8 ก.ค.) สูงกว่าที่ข้อตกลงกำหนดไว้ที่ 3.67% ซึ่งล่าสุด สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ที่เป็นผู้ดูแลการผลิตนิวเคลียร์ของอิหร่าน ก็ได้ออกมายืนยันถึงเรื่องดังกล่าว ทำให้เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่อิหร่านละเมิดข้อตกลง

หลังจากอิหร่านออกมาเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (7 ก.ค.) ว่า ผลิตแร่ยูเรเนียมเกินเพดานกำหนด 3.67% กลุ่มประเทศยุโรป ก็ระบุว่า กังวลอย่างมากกับการเคลื่อนไหวนี้ พร้อมเรียกร้องให้อิหร่านกลับไปปฏิบัติตามข้อตกลงปี 2558 อย่างเคร่งครัด ซึ่งอิหร่านก็ขู่ด้วยว่า จะเคลื่อนไหวมากกว่านี้ในเวลา 2 เดือน โดยไม่สนใจถึงคำมั่นที่ให้ไว้ในข้อตกลง

บรรดาเจ้าหน้าที่ยุโรป ซึ่งตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐให้ตอบสนองต่อการกระทำของอิหร่าน บอกว่า พวกเขากำลังหารือกับรัสเซีย และจีน พร้อมบ่งชี้ว่า จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ อย่างน้อยจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) มีกำหนดประชุมกันที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยี่ยม เพื่อพูดคุยเรื่องอิหร่าน และประเด็นอื่นๆ

สำหรับชาติยุโรปแล้ว พวกเขาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยควบคุมผลกระทบจากการที่สหรัฐดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ซึ่งเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้รัฐบาลอิหร่าน ค่อยๆ เพิ่มแรงกดดัน ด้วยการลดการปฏิบัติตามข้อตกลงไปทีละน้อย อย่างเป็นขั้นตอน และสื่อสารให้รับรู้อย่างชัดเจน

ทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี ต่างโดนสหรัฐกดดันเพิ่มขึ้น เพื่อให้โดดเดี่ยวอิหร่าน แต่พันธมิตรของทั้ง 3 ชาติในข้อตกลงนี้ คือ จีน และรัสเซีย ต่างกล่าวโทษว่า การที่สหรัฐที่ถอนตัวจากข้อตกลงเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เป็นสาเหตุในการกระทำของอิหร่าน พร้อมเรียกร้องชาติยุโรปไม่ให้ดำเนินมาตรการใดๆ ที่จะทำให้ข้อตกลงนี้ล่ม

europe vows to stand by iran nuclear deal

การเคลื่อนไหวล่าสุดของอิหร่าน จะทำให้ประเทศมีแร่ยูเรเนียมเพิ่มขึ้นทีละน้อย จนพอเพียงสำหรับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ในปีหน้า ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับชาติยุโรปที่ร่วมอยู่ในข้อตกลงนิวเคลียร์ิอิหร่าน ให้เริ่มดำเนินการตามกระบวนการความขัดแย้ง ที่ระบุไว้ในข้อตกลง ซึ่งอาจจะลงเอยด้วยการที่นานาชาติหันกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง

กลไกแก้ไขความขัดแย้งในข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ปี 2558 ได้พยายามที่จะเปิดทางให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีเวลามากพอที่จะแก้ไขวิกฤติได้ ขณะเดียวกันยังอนุญาตให้ยับยั้งการนำมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ที่เกิดขึ้นก่อนข้อตกลง 2558 กลับมาใช้ใหม่

ในทันทีที่กลไกแก้ไขความขัดแย้งเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากอิหร่าน และอีก 5 ประเทศที่เข้าร่วมในข้อตกลง จะมีเวลาราว 1 เดือน เพื่อหารือถึงข้อขัดแย้ง และสามารถขยายเวลาการพูดคุยออกไปได้อีก

ถ้าหากฝั่งยุโรปรู้สึกว่า อิหร่านยังคงไม่ปฎิบัติตามข้อตกลงอย่างมาก พวกเขาก็อาจยกเลิกคำมั่นที่ให้ไว้ในบางข้อ หรือทั้งหมดของข้อตกลง

Avatar photo