World News

‘บิ๊กมือปราบจีน’ เยือนชายแดนไทย-เมียนมา ตอกย้ำความสำคัญ ภารกิจกวาดล้าง ‘แก๊งคอลเซ็นเตอร์”

ความพยายามในการปิดศูนย์หลอกลวงทางออนไลน์ในเมียนมา ดูเหมือนจะได้รับแรงผลักดันมากขึ้น จากการที่ “หลิว จงอี้” ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของจีน ได้เดินทางเยือนสองฝั่งของชายแดนไทย-เมียนมา ก่อนที่คาดว่าจะมีการส่งตัวแรงงานในอุตสาหกรรมผิดกฎหมายกลับประเทศเป็นจำนวนมาก

การเยือนของหลิว เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่เพิ่มมากขึ้นของทั้ง 3 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา และจีน ในการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์

ชายแดนไทย-เมียนมา

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย และบุคคลที่สื่อจับตามองอย่าง พ.อ.ซอว์ ชิต ตู ผู้นำกองกำลังแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNA) หรือกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง (BGF) ด้วย

พ.อ.ซอว์ ชิต ตู ผู้นำกองกำลังดังกล่าวปฏิเสธว่า กลุ่มของเขาไม่เกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรม เเม้ว่ามีเสียงวิจารณ์ว่า เขามีบทบาทอยู่บ้าง อย่างน้อยก็มาจากการให้ความคุ้มครองศูนย์หลอกหลวงต่าง ๆ

เขากล่าวเพียงว่า มีธุรกิจที่พัวพันกับสถานที่ซึ่งถูกใช้เป็นศูนย์หลอกลวง โดยระบุในตอนเเรกว่า ที่ตั้งเหล่านั้นเป็นเพียงรีสอร์ตเท่านั้น

วีโอเอ รายงานว่า การเดินทางมาไทยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 ก.พ.) ของหลิว ซึ่งถูกมองว่าเป็น มือปราบอาชญากรรมคนสำคัญ แสดงให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนต่อเนื่อง เพื่อปราบปรามขบวนการมิจฉาชีพ

พื้นที่รอยต่อชายแดนไทย-เมียนมา เคยถูกใช้เป็นฐานที่มั่นอันปลอดภัยสำหรับขบวนการอาชญากรรม ที่นำคนหลายพันคนจากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่อื่น ๆ เข้ามาร่วมปฏิบัติการต้มตุ๋น เช่น การหลอกมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งเพื่อหวังลักทรัพย์ รวมทั้งแผนลวงให้คนมาร่วมลงทุน และการประกอบธุรกิจพนันผิดกฎหมาย

มูลค่าความสูญเสียต่อเหยื่อทั่วโลกรวมกันเเล้วหลายหมื่นล้านดอลลาร์ และคนที่เข้ามาทำงานให้กับแก๊งเหล่านี้ จำนวนหนึ่งถูกลวงว่ามีงานให้ทำ ก่อนพวกเขาจะทราบว่าต้องเข้าร่วมขบวนการ เเละอยู่ภายใต้สภาพการทำงานเเทบไม่ต่างจากทาส

การส่งตัวชาวต่างชาติที่ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากเมียนมา กลับประเทศของพวกเขา ได้รับการช่วยจัดการโดยกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงในเมียวดี

เจ้าหน้าที่ไทยระบุว่า อาจมีคนจำนวนมากถึง 7,000-10,000 คน ที่จะถูกส่งกลับประเทศ ซึ่งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ระบุว่า  ไทยจะรับตัวบุคคลที่พร้อมจะถูกส่งกลับประเทศต้นทางโดยทันทีเท่านั้น

ชายแดนไทย-เมียนมา
เจ้าหน้าที่เมียนมาดูแลจัดการข้อมูลเกี่ยวกับชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้าเมียนมาอย่างผิดกฎหมาย ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง (ภาพ: สำนักข่าวซินหัว)

การเคลื่อนไหวนี้ ยังมีขึ้นหลังจากเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ นางสาวเเพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ประกาศเคียงข้างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนว่า จะจัดการกับเครือข่ายสเเกมเมอร์

ก่อนหน้าที่ผู้นำไทยจะเดินทางไปเยือนแดนมังกรนั้น ทางการไทยได้ตัดไฟฟ้า และอินทตอร์เน็ตในหลายพื้นที่ตามชายเเดนที่ติดกับเมียนมา โดยให้เหตุผลด้านความมั่นคง และสร้างความเสียหายรุนเเรงต่อไทย

ทั้งนี้ ชาวจีนกลุ่มเเรกจำนวนประมาณ 600 คนพร้อมที่จะถูกส่งกลับไปจีนโดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ เมื่อผู้ช่วยรัฐมนตรีหลิว เสร็จสิ้นการเยือนไทย

โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน เกา เจียคุน กล่าวที่กรุงปักกิ่งว่า จีนดำเนินการความร่วมมืออย่างเเข็งขันระดับทวิภาคี และพหุพาคี กับไทย เมียนมา และประเทศต่าง ๆ โดยมีมาตรการจัดการกับปัญหาปรากฏขึ้นและสาเหตุต้นตอ รวมทั้งทำงานเพื่อสกัดกั้นไม่ให้อาชญากรก่อเหตุผิดกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้อง

“นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามร่วมกันเพื่อกำจัดการพนันออนไลน์ และการหลอกลวง (ออนไลน์) และเพื่อรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน”

ชายแดนไทย-เมียนมา
พิธีส่งตัวพลเมืองชาวต่างชาติที่ได้รับการช่วยเหลือจากขบวนการค้ามนุษย์ และหลอกลวงในเมียนมา ที่จังหวัดตากของไทย (ภาพ: สำนักข่าวซินหัว)

เรื่องราวดราม่าเกี่ยวกับชาวจีนที่ถูกหลอกมาทำงานในไทย และตกเป็นเหยื่อให้มาทำงานกับกลุ่มมิจฉาชีพ สั่นสะเทือนชื่อเสียงของไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่ปลอดภัยของชาวจีน

เหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ ดาราโทรทัศน์จีน หวัง ซิง ถูกลักพาตัวจากไทย และถูกบังคับใช้เเรงงานที่ ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา

ความพยายามยามปราบขบวนการคอลเซ็นเตอร์ มีเหตุการณ์ตัวอย่างในปี 2566 หลังจากที่จีนเเสดงความอับอาย และกังวลเกี่ยวกับบ่อนกาสิโนผิดกฎหมาย และปฏิบัติการหลอกลวงออนไลน์ ตามชายเเดนจีนเมียนมา ทางตอนเหนือของรัฐฉาน

ในครั้งนั้น ขบวนการติดอาวุธที่ใกล้ชิดกับจีน เข้าปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์จำนวนมาก ซึ่งมีชาวจีนประมาณ 45,000 คนถูกต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการเหล่านี้ถูกส่งกลับประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo