World News

‘ทรัมป์ 2.0’ กับสารพัดนโยบาย ทำโลกสั่นสะเทือน!

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐในสมัยที่สอง “ทรัมป์ 2.0” ด้วยการออกคำสั่งของฝ่ายบริหารหลายฉบับ ที่ลงนามในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ พร้อมประกาศว่า จะมีคำสั่งอื่น ๆ ออกมาอีกในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป

ทรัมป์ให้คำมั่นว่า จะกำหนดแผนงานที่ครอบคลุม และปรับโครงสร้างรัฐบาลกลาง โดยเขาระบุ ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมาว่า “ยุคทองของอเมริกา” กำลังเริ่มต้นขึ้น พร้อมกำหนดลำดับความสำคัญของนโยบายที่จะออกมา เช่น ผู้อพยพ การค้า และความมั่นคงแห่งชาติ

ทรัมป์ 2.0

จนถึงขณะนี้ ทรัมป์ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารไปแล้ว 98 คำสั่ง โดยคำสั่งเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นความคิดริเริ่มใหม่ หรือการปรับปรุงมาจากนโยบายเดิม ประกอบไปด้วย

  • คำสั่งเกี่ยวกับรัฐบาลกลาง 31 คำสั่ง
  • คำสั่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 15 คำสั่ง
  • คำสั่งเกี่ยวกับผู้อพยพ 9 คำสั่ง
  • คำสั่งเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ 8 คำสั่ง
  • คำสั่งเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ 7 คำสั่ง
  • คำสั่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และพลังงาน 6 คำสั่ง
  • คำสั่งเกี่ยวกับการศึกษา 4 คำสั่ง
  • คำสั่งเกี่ยวกับสาธารณสุข 3 คำสั่ง
  • คำสั่งอื่น ๆ 15 คำสั่ง

ทรัมป์ 2.0

ทั่วโลกผวา “สงครามการค้า”

ในคำสั่งต่าง ๆ  ที่ออกมานี้ เรื่องที่ได้รับความสนใจ และถูกพูดถึงมากที่สุด หนีไม่พ้น เรื่องการออกคำสั่งผู้บริหารในด้านการจัดเก็บภาษีศุลกากรต่อประเทศ และดินแดนต่าง ๆ ที่ส่งสินค้าเข้ามาขายในสหรัฐ สถานการณ์ที่ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดสงครามการค้า ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

ทรัมป์เริ่มสร้างความกังวลให้กับทั่วโลก ด้วยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าต่อ 3 คู่ค้ารายใหญ่สุดของสหรัฐ คือ แคนาดา เม็กซิโก และจีน โดยที่ประกาศจัดเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากแคนาดา และเม็กซิโกในอัตรา 25% และขึ้นภาษีนำเข้าต่อสินค้าจีนเพิ่มอีก 10%

ตามมาด้วยการประกาศเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอลูมิเนียม จากทุกประเทศในอัตรา 25% ตบท้ายด้วยการลงนามในบันทึกของประธานาธิบดี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (13 ก.พ.) กำหนดแผนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศ ที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐ

ทรัมป์ ระบุด้วยว่า ประเทศต่าง ๆ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ส่งสินค้าหรือสิ่งของอื่น ๆ มายังสหรัฐฯ ผ่านประเทศที่สาม พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะมีการเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งรวมถึงภาษีการนำเข้ารถยนต์

ระงับความช่วยเหลือเดือดร้อนทั่วโลก

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารให้หยุดการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ต่างประเทศเป็นเวลา 90 วัน เพื่อพิจารณาทบทวนประสิทธิภาพ และความต่อเนื่องสอดคล้องกับนโยบายด้านการต่างประเทศของเขา

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งให้ทบทวนการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 85 วันเพื่อให้แน่ใจว่าความช่วยเหลือเหล่านั้นสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของนโยบายการต่างประเทศของทรัมป์

คำสั่งที่ออกมานี้ ทำให้ระบบความช่วยเหลือระดับสากลต้องพลิกผัน และก่อให้เกิดผลกระทบในหลายประเทศ โดยทำให้โครงการพัฒนา และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อาทิ โครงการจัดหายาให้แก่ผู้ยากไร้ที่สุดในโลก และโครงการจัดหาน้ำสะอาด ต้องหยุดลงทันที

นอกจากนี้ เขายังลงนามคำสั่งถอนสหรัฐออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยระบุว่า WHO ดำเนินการผิดพลาดในการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19  ละวิกฤติสุขภาพระดับโลกอื่น ๆ รวมถึงความล้มเหลวในการดำเนินการปฏิรูปที่จำเป็นเร่งด่วน และไม่สามารถแสดงถึงความเป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองที่ไม่เหมาะสมของประเทศสมาชิก

คำสั่งดังกล่าวยังระบุถึงการที่สหรัฐต้องจ่ายเงินสนับสนุนที่มากเกินไปอย่างไม่เป็นธรรมให้กับ WHO ด้วย

ทรัมป์ 2.0

ที่ผ่านมา สหรัฐเป็นผู้บริจาคให้ความช่วยเหลือแก่นานาชาติรายใหญ่ของโลก โดยใช้จ่ายเงินส่วนนี้สูงถึง 68,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.28 ล้านล้านบาท ในปี 2566

โดยทรัมป์ เป็นผู้ที่วิจารณ์การใช้จ่ายงบประมาณในต่างประเทศมาอย่างยาวนาน และกล่าวว่าการใช้จ่ายในต่างประเทศไม่คุ้มค่าเงินสำหรับผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน

บั่นทอนความพยายามลดโลกร้อน

ทรัมป์ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานแห่งชาติ และถอนตัวสหรัฐ ออกจากข้อตกลงปารีสเป็นครั้งที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า ข้อตกลงปารีสกำหนดภาระทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐ

การเปลี่ยนแปลงสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมนี้ รวมถึง การยกเลิกเครดิตภาษีสำหรับการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า และโครงการพลังงานสะอาด การระงับโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งของรัฐบาลกลาง และการสั่งให้ตรวจสอบการพิจารณาความเสี่ยงของก๊าซเรือนกระจก โดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐ

อีกทั้งยังยกเลิกการคำนวณต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน ซึ่งมีผลสำคัญต่อการตัดสินใจอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ของรัฐบาล

ทรัมป์ 2.0

ทั้งยังสนับสนุนอุตสาหกรรมน้ำมันและถ่านหิน โดยเดินหน้าผลักดันแนวทาง “Drill, Baby, Drill”  ซึ่งเน้นการขยายการขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซในพื้นที่ที่เคยได้รับการคุ้มครอง

หนึ่งในการตัดสินใจที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุดคือการเปิดเขตอนุรักษ์แห่งชาติ Arctic National Wildlife Refuge ให้มีการขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางนิเวศวิทยาที่เคยได้รับความคุ้มครองมายาวนาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X: https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo