หลังจากที่ได้ไฟเขียวจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ยูเครนก็ได้เริ่มปฏิบัติการ ใช้ ขีปนาวุธ ATACMS โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซียเป็นครั้งแรกแล้ว เมื่อวานนี้ (19 พ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น
ที่ผ่านมา แม้สหรัฐจะจัดหาขีปนาวุธ ATACMS ให้กับยูเครน แต่ก็ได้ปฏิเสธนคำขอของทางการยูเครน และไม่อนุญาตให้ยูเครนโจมตีเข้าไปดินแดนรัสเซียด้วยขีปนาวุธนี้ เพราะเกรงว่าจะทำให้สงครามลุกลามบานปลาย
บีบีซีรายงานว่า การพลิกกลับนโยบายครั้งใหญ่นี้ เกิดขึ้นในขณะที่เหลือเวลาอีก 2 เดือน ก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจะส่งมอบอำนาจในฐานะประธานาธิบดีให้กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งของเขาทำให้เกิดความกลัวเกี่ยวกับอนาคตการสนับสนุนยูเครนของสหรัฐ
เหตุใดสหรัฐจึงอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลโจมตีรัสเซีย
ในช่วงกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธทางยุทธวิธี (Army Tactical Missile System-ATACMS) ในการโจมตีเป้าหมายของกองทัพรัสเซียในดินแดนยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครอง แต่สหรัฐไม่เคยอนุญาตให้ยูเครนใช้ ATACMS ในดินแดนรัสเซียมาก่อน โดยเพิ่งจะมาอนุญาตตอนนี้
รายงานข่าวระบุว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายเกิดขึ้น จากการมาถึงของกองทหารเกาหลีเหนือ เพื่อสนับสนุนรัสเซียในภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งยูเครนได้ยึดครองดินแดนแห่งนี้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การกลับเข้าทำเนียบขาวของนายทรัมป์ ที่จะเกิดขึ้นในอีกเพียง 2 เดือนข้างหน้า ยังทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับอนาคตการสนับสนุนยูเครนของสหรัฐ และเห็นได้ชัดว่าประธานาธิบดีไบเดน กระตือรือร้นที่จะทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อช่วยยูเครนในช่วงเวลาอันสั้นก่อนที่เขาจะพ้นจากตำแหน่ง
มีการประเมินกันว่า การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางทหารให้ยูเครน อาจทำให้ยูเครนมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการเจรจาสันติภาพใด ๆ ที่รออยู่ข้างหน้า
ขีปนาวุธ ATACMS คืออะไร
ATACMS เป็นขีปนาวุธนำวิถีจากพื้นสู่พื้น ที่สามารถโจมตีเป้าหมายได้ไกลถึง 300 กิโลเมตร และด้วยพิสัยการทำการ ทำให้ขีปนาวุธชนิดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับยูเครน
ระบบขีปนาวุธนี้สร้างขึ้นโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน ของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นผู้ผลิตทั้งระบบจรวดหลายลำกล้อง M270 (MLRS) ที่ติดตาม ระบบจรวดปืนใหญ่เคลื่อนที่สูง M142 (HIMARS) แบบมีล้อ โดยขีปนาวุธแต่ละลูกมีราคาประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 50 ล้านบาท
ATACMS ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงแข็ง และเคลื่อนที่วิถีโค้งไปตามเส้นทางขีปนาวุธสู่ชั้นบรรยากาศ ก่อนที่จะพุ่งกลับลงมาด้วยความเร็วสูงและจากมุมสูง ทำให้ยากต่อการสกัดกั้น ทั้งอาวุธชนิดนี้ยังสามารถกำหนดค่าให้บรรทุกหัวรบ 2 ประเภทที่แตกต่างกันได้
แบบแรกคือ หัวรบแบบคลัสเตอร์ที่ติดตั้งลูกระเบิดเล็ก ๆ หลายร้อยลูก ซึ่งออกแบบมาเพื่อทำลายหน่วยยานเกราะเบาบนพื้นที่กว้าง เป้าหมายการโจมตีอาจจะเป็นเครื่องบินที่จอดอยู่ ระบบการป้องกันทางอากาศ รวมถึงกองกำลังทหารที่มาอยู่รวมกัน
หัวรบแบบคลัสเตอร์นี้แม้จะมีประโยชน์ แต่ก็เสี่ยงที่จะทิ้งระเบิดที่ยังไม่ระเบิดเอาไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นเวลานานหลังจากการสู้รบยุติลง
แบบที่สองคือ หัวรบเดี่ยว ซึ่งเป็นรุ่นระเบิดแรงสูง 225 กิโลกรัม ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายสิ่งก่อสร้างที่ถูกเสริมการป้องกัน และโครงสร้างขนาดใหญ่
สำหรับขีปนาวุธ ATACMS นั้นมีมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยถูกใช้ครั้งแรกในสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534
ATACMS จะส่งผลอย่างไรต่อสงครามยูเครน-รัสเซีย
ยูเครนจะสามารถโจมตีเป้าหมายต่าง ๆ ในรัสเซียได้แล้วตอนนี้ ซึ่งในช่วงแรกน่าจะเป็นการโจมตีรอบ ๆ ภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งกองกำลังยูเครนยึดครองพื้นที่ไว้ได้มากกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร
นอกจากนี้ ยังอาจใช้เพื่อป้องกันการโจมตีจากกองทหารรัสเซีย และเกาหลีเหนือ เพื่อยึดดินแดนในเคิร์สก์คืน โดยกำหนดเป้าหมายไปยังเป้าหมายต่าง ๆ ของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นฐานทัพทหาร โครงสร้างพื้นฐาน และคลังกระสุน
อย่างไรก็ดี จำนวนขีปนาวุธที่ยูเครนมีอยู่ อาจจะไม่เพียงพอที่จะพลิกกระแสสงครามได้ โดยยุทโธปกรณ์ทางทหารของรัสเซีย เช่น เครื่องบินไอพ่น ได้ถูกย้ายไปยังสนามบินที่อยู่ไกลออกไปในรัสเซียแล้ว เนื่องจากรัสเซียคาดการณ์ไวเช่นกันว่า นายไบเดนอาจอนุญาตให้ยูเครนใช้ ATACMS โจมตีเข้ามาในดินแดนรัสเซียได้
แต่การเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์ให้ถอยห่างจากแนวหน้าก็อาจสร้างความยุ่งยากให้กับกองทหารรัสเซียมากขึ้น เนื่องจากแนวส่งเสบียงมีระยะทางไกลขึ้น และการสนับสนุนทางอากาศใช้เวลานานขึ้นกว่าจะมาถึง
ATACMS ยังอาจทำให้ยูเครนได้เปรียบ ในช่วงเวลาที่กองทหารรัสเซียกำลังรุกคืบเข้ายึดพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศ
นักการทูตตะวันตกรายหนึ่งในกรุงเคียฟ แสดงความเห็นว่า ATACMS ไม่น่าจะเป็นตัวตัดสินผลลัพธ์ของสงคราม แต่เป็นการตัดสินใจเชิงสัญลักษณ์ เพื่อยกระดับสิ่งที่ต้องเดิมพัน และแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนทางทหารต่อยูเครน
ขณะที่ เอเวลิน ฟาร์กาส อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ในรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา ระบุว่า ขีปนาวุธ ATACMS อาจมีผลกระทบด้านจิตวิทยาเชิงบวกนยูเครนได้ หากพวกเขาใช้โจมตีเป้าหมาย เช่น สะพานเคิร์ช ซึ่งเชื่อมต่อไครเมีย กับแผ่นดินใหญ่ของรัสเซีย
สงครามจะลุกลามหรือไม่
ที่ผ่านมา รัฐบาลไบเดนปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ยูเครนโจมตีรัสเซียด้วยขีปนาวุธพิสัยไกล เพราะเกรงว่า ความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย ซึ่งเคิร์ต โวลเกอร์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำนาโต ชี้ว่า การจำกัดขอบเขตการใช้อาวุธอเมริกันของยูเครน เท่ากับสหรัฐ ได้สร้างข้อจำกัดฝ่ายเดียว แบบไม่มีเหตุผลรองรับในเรื่องการป้องกันตนเองของยูเครน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางการรัสเซียเคยกำหนด “เส้นแดง” หรือ “ขีดจำกัดที่ไม่สามารถรับได้” ไว้แล้ว เช่น การจัดหารถถังสมัยใหม่ และเครื่องบินรบสมัยใหม่ให้กับยูเครน และแม้ว่า จมีการข้ามเส้นแดงเหล้านี้ไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดสงครามโดยตรงระหว่างรัสเซียและนาโตแต่อย่างใด
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘รัสเซีย’ สงวนสิทธิใช้ ‘อาวุธนิวเคลียร์’ หลังโดน ‘ยูเครน’ ยิงขีปนาวุธถล่ม 6 ลูก
- ‘รัสเซีย’ ขู่อาจเกิด ‘สงครามโลก’ หลัง ‘ยูเครน’ ได้ไฟเขียวใช้ ‘ขีปนาวุธสหรัฐ’ โจมตี
- จี7 ประณาม ‘เกาหลีเหนือ’ ส่งอาวุธให้ ‘รัสเซีย’
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X : https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg