งานวิจัยฉบับใหม่ชี้ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ทำให้เกิดการทำกิจกรรมบนโลกอินเทอร์เน็ตแบบนั่งอยู่นิ่ง ๆ เช่น การเล่นเกมออนไลน์ และการชมเนื้อหาบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงนาน ๆ ติดต่อกัน มีความเชื่อมโยง และขับเคลื่อนอัตราโรคอ้วนในออสเตรเลีย
สำนักข่าวซินหัว รายงานอ้างการเปิดเผยของนายคลอส แอคเกอร์แมนน์ ผู้เขียนงานวิจัยอาวุโส จากมหาวิทยาลัยโมนาชของเมลเบิร์นว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทำให้โอกาสที่ผู้คนจะทำกิจกรรมทางกายขั้นต่ำ ตามที่องค์การอนามัยโลกเสนอลดน้อยลง
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาช มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที วิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสำรวจพลวัตครัวเรือน รายได้ และแรงงานในออสเตรเลีย (HILDA) ซึ่งครอบคลุมช่วงปี 2549-2562 เพื่อสำรวจผลกระทบของอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงต่อโรคอ้วน โดยพบว่า อัตราการใช้เครือข่ายบรอดแบรนด์แห่งชาติเพิ่มขึ้น 1% เกี่ยวข้องกับความชุกโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้น
นายแอคเกอร์แมนน์กล่าวว่า ปัญหาพฤติกรรมเนือยนิ่ง ขณะใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยิ่งแย่ลง จากการกินขนมขบเคี้ยวไปด้วย โดยอินเทอร์เน็ตทำให้สามารถเข้าถึงสินค้า และบริการได้อย่างง่ายดาย ลดความจำเป็นที่ผู้คนต้องออกไปจัดการธุระต่าง ๆ ด้วยตนเอง และลดความจำเป็นในการนัดพบปะกับเพื่อนฝูง และครอบครัว
ข้อมูลจากสำนักสถิติของออสเตรเลียเมื่อเดือนธันวาคม 2566 แสดงให้เห็นว่า ผู้ใหญ่ชาวออสเตรเลีย 65.8% มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วนในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 62.8% ในปี 2555
ทั้งนี้ กลยุทธ์การป้องกันโรคอ้วนแห่งชาติ ปี 2555 ของรัฐบาลออสเตรเลีย คาดว่า โรคอ้วนอาจทำให้ชุมชนออสเตรเลียสูญเงิน 11,8000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 270,000 ล้านบาท ในปี 2561
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘จีน’ เปิดคู่มือ ‘ตรวจคนน้ำหนักตัวเกิน’ ตั้งเป้าแก้ ‘วิกฤติโรคอ้วน’
- สหรัฐ พบผู้ใหญ่ 1 ใน 5 ของทุกรัฐป่วย ‘โรคอ้วน’ สร้างปัญหาสุขภาพ
- คาด ‘วิกฤติโรคอ้วน’ ดันตลาด ‘ยาลดน้ำหนัก’ พุ่งถึง 1 แสนล้านดอลล์ ปี 73
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X : https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg