นักวิเคราะห์เตือน “อาเซียน” อาจเจอกับแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มมากขึ้น หาก “โดนัลด์ ทรัมป์” และ “จีน” จะเปิดสงครามการค้าอีกครั้ง
เว็บไซต์ข่าวพนมเปญ โพสต์ รายงานอ้างการแสดงความเห็นของนักวิชาการว่า ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น หากว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ เปิดสงครามการค้ารอบใหม่กับจีน
หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะสร้างความยากลำบากอย่างมากให้กับกัมพูชา เนื่องจากที่ตั้งของประเทศ มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ในการแย่งชิงอิทธิพลระหว่าง 2 มหาอำนาจ จึงมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับแรงกดดันมากกว่าประเทศอื่น ๆ
นายกิน เพีย ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของสถาบันการทูต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกัมพูชา แสดงความเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อาจดีขึ้นได้
เนื่องจากเมื่อปลายปี 2562 นายทรัมป์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ต้องการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เริ่มขึ้น และรัฐบาลของเขาสิ้นสุดลง การประชุมครั้งนั้นจึงไม่ได้เกิดขึ้น ก่อนที่จะมีการจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ในสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในปี 2565 โดยมีกัมพูชาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน
นายเพีย ยังมั่นใจว่า แม้สหรัฐจะตั้งเป้าให้ความสำคัญกับอาเซียน แต่ก็จะยังคงดำเนินนโยบายต่อต้านจีนต่อไป ซึ่งอาจทำได้ ผ่านการมีส่วนร่วมกับอาเซียน
เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในช่วงที่นายทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 2560-2564 นั้น อิทธิพลของสหรัฐในอาเซียนลดน้อยลง ในขณะที่อิทธิพลของจีนในภูมิภาคกลับแข็งแกร่งขึ้น
“ดังนั้น ผมเชื่อว่า ทรัมป์อาจตั้งเป้าหมายที่จะมีนโยบาย และความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นกับอาเซียน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นดาบสองคมสำหรับกัมพูชา และอาเซียน หากเขามุ่งความสนใจของรัฐบาลไปที่ภูมิภาคนี้ อาเซียนโดยรวม หรือประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ อาจถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างจีนกับสหรัฐ”
“หากเป็นเช่นนั้น เราจะอยู่ภายใต้แรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์มหาศาล ตามสำนวนดั้งเดิมที่ว่า เมื่อช้างต่อสู้ หญ้าต่างหากที่ต้องทนทุกข์ มหาอำนาจไม่ต้องการให้เราวางตัวเป็นกลาง พวกเขาต้องการให้เราเลือกข้างพวกเขา”
ส่วนในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับสหรัฐนั้น เขามองว่า นายทรัมป์อาจให้ความสนใจในความสัมพันธ์นี้มากขึ้น เนื่องจากว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ได้เขียนจดหมายตอบกลับนายฮุน เซนอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ และความไว้วางใจ และต้องการจัดตั้งกลุ่มทำงานเพื่อจัดการเรื่องเหล่านี้ด้วย
นายเพีย ยังมองว่า นายทรัมป์ไม่น่าจะกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับกิจการภายในของกัมพูชา และสิ่งนี้อาจช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ได้
อย่างไรก็ดี ยังมีอุปสรรคบางอย่างอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชา กับสหรัฐอยู่ รวมถึง เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งสะท้อนถึงมุมมองที่แตกต่างกัน และฝ่ายกัมพูชาอาจมองว่า เป็นการแทรกแซงกิจการภายใน
“อีกประเด็นหนึ่งคือความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างกัมพูชากับจีน สหรัฐมักแสดงความกังวลว่า กัมพูชาเป็นรัฐบริวารของจีน อีกประเด็นหนึ่งคือการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากกัมพูชาอยู่ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์ และอาจถูกบังคับให้เลือกระหว่างจีนกับสหรัฐ”
ทางด้านนายทอง เมงดาวิด นักวิจัยจากสถาบันเอเชียวิชั่น ชี้ให้เห็นว่า ทิศทางนโยบายต่างประเทศที่เป็นไปได้ของนายทรัมป์นั้นยากที่จะคาดเดา โดยนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ของทรัมป์ มุ่งเป้าไปที่การให้ความสำคัญกับสหรัฐ และผลประโยชน์ของสหรัฐเป็นหลัก และแม้แต่พันธมิตรของสหรัฐ ก็ยังคาดเดาได้ยากว่านโยบายของเขาจะเป็นอย่างไร
เขาเชื่อว่าการผูกสัมพันธ์ของนายทรัมป์กับอาเซียน จะลดระดับลง เนื่องจากสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนความสนใจ และทรัพยากรไปที่ภูมิภาคอื่นๆ ทั้งมองว่าการกระทำหลายๆ อย่าง ของสหรัฐในเอเชีย รวมถึงในกัมพูชา เกี่ยวข้องกับการต่อต้านจีน
“เรื่องนี้อาจทำให้เกิดแรงกดดันทางเศรษฐกิจ และการทูตที่เพิ่มมากขึ้นต่อกัมพูชาเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับปักกิ่ง ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามของสหรัฐที่จะลดอิทธิพลของจีนในภูมิภาค”
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘คามาลา แฮร์ริส’ ยอมรับความพ่ายแพ้ ‘เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ’ ยืนยันเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ
- ชนะม้วนเดียวจบ! ‘ทรัมป์’ กวาดคะแนนคณะผู้เลือกตั้งทะลุ 270 เสียง จ่อนั่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัย 2
- เปิดประวัติ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ มหาเศรษฐีนักธุรกิจ สู่ ‘ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ’ คนที่ 47
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg