World News

ความหวังใหม่! วิจัยชี้ ‘วัคซีนงูสวัด’ อาจช่วยชะลออาการ ‘สมองเสื่อม’

บรรดานักวิจัยต่างมีความหวังมากขึ้น ที่จะชะลอการเกิด “โรคสมองเสื่อม” หลังพบว่า “วัคซีนงูสวัด” ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติไปนั้น มีความเกี่ยวข้องกับการทำให้การวินิจฉัยโรคดังกล่าวลดลงอย่างมาก ภายใน 6 ปีหลังจากได้รับวัคซีน 

การค้นพบดังกล่าว ซึ่งอ้างอิงจากบันทึกทางการแพทย์ของสหรัฐ บ่งชี้ว่า นอกเหนือจากประโยชน์ต่อสุขภาพจากการป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความเจ็บปวด และบางครั้งอาจเป็นโรคที่ร้ายแรงในผู้สูงอายุแล้ว วัคซีนตัวนี้ ยังอาจช่วยชะลอการเกิดโรคสมองเสื่อม ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้คนในสหราชอาณาจักรได้อีกด้วย

วัคซีนงูสวัด

ดร.แม็กซิม ทาเกต์ แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานคนแรกของการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า ผลการศึกษานี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดอาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้

“หากผลการศึกษานี้ได้รับการพิสูจน์ในการทดลองทางคลินิก ก็อาจส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้สูงอายุ บริการด้านสุขภาพ และสาธารณสุข”

ทีมนักวิจัยได้เปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดใหม่ราว 100,000 คน เปรียบเทียบกับผู้ที่ฉีดวัคซีนชนิดเก่าในจำนวนเท่า ๆ กัน ผลการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดชนิดใหม่ จะมีช่วงระยะเวลาที่ปลอดจากการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมเพิ่มเติมอีก 164 วัน ในช่วง 6 ปี แต่ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหาพิสูจน์ความเชื่อมโยงดังกล่าว

บีบีซี รายงานว่า โรคงูสวัดมีสาเหตุมาจาก ไวรัสเฮอร์เปส ซอสเตอร์ (Herpes zoster) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส กลับมาทำงานในร่างกายของผู้ป่วยอีกครั้ง แต่โรคงูสวัดมีวัคซีนที่ฉีดป้องกันโรคได้ โดยมีใช้ในหลายประเทศตั้งแต่เมื่อ 18 ปีที่แล้ว

นับตั้งแต่มีวัคซีนโรคงูสวัดเป็นต้นมา มีหลักฐานมากมายเพิ่มขึ้นที่บ่งชี้ว่า วัคซีนงูสวัดอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม แต่ยังไม่มีหลักฐานที่เป็นข้อสรุปชัดเจน

แต่ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ ได้ทำการเปรียบเทียบประวัติสุขภาพของชาวสหรัฐ ที่ได้รับวัคซีนป้องกันงูสวัดรุ่นเก่าที่ชื่อว่า ซอสตาแวกซ์ (Zostavax) ร่วมกับวัคซีนรุ่นใหม่ชื่อ ชิงกริกซ์ (Shingrix) ซึ่งมีการใช้งานกว้างขวางในสหราชอาณาจักร

วัคซีนงูสวัด

ผลวิจัยพบว่า แม้จำนวนคนที่ยังคงเป็นโรคสมองเสื่อมในตอนท้ายของการศึกษาไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผู้วิจัยพบว่า โดยเฉลี่ยในช่วง 6 ปี คนที่ รับวัคซีนงูสวัดชิงกริกซ์ มีช่วงเวลาที่ปลอดจากการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 17% มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนงูสวัดรุ่นเก่า โดยเป็นผลดีมากกว่าในกลุ่มผู้รับวัคซีนที่เป็นผู้หญิง

ศาสตราจารย์พอล แฮร์ริสัน เจ้าของงานวิจัย ระบุว่า แม้ว่านั่นจะเป็นการชะลอการวินิจฉัยพบโรคสมองเสื่อมไว้เป็นเวลา 164 วัน แต่ในแง่ของสุขภาพของคนทั่วไป มันไม่ใช่ข้อค้นพบที่เล็กน้อยแต่อย่างใด

เขาบอกด้วยว่า งานวิจัยได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายที่จำเป็นต้องหาคำตอบอย่างเร่งด่วน ซึ่งความเป็นไปได้ทางหนึ่ง คือ ไวรัสของงูสวัด อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่อาจจะทำให้สมองเสื่อม

“ดังนั้น วัคซีนที่หยุดไม่ให้ไวรัสของงูสวัดกลับมาทำงานอีกครั้ง อาจช่วยชะลอกลไกใดก็ตาม ที่เป็นสาเหตุให้คุณอาจจะเป็นโรคสมองเสื่อมในปีถัด ๆ ไป”

ทางด้าน ดร.ชีโอนา สเกลส์ จากหน่วยวิจัยโรคอัลไซเมอร์ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การค้นหาหนทางใหม่ในการลดความเสี่ยงของผู้คนเป็นเรื่องสำคัญ

“งานวิจัยนี้ ดำเนินการศึกษาในคนกลุ่มใหญ่ ซึ่งได้บ่งชี้ออกมาว่า คนที่ได้รับวัคซีนชิงกริกซ์ อาจมีความเสี่ยงลดลงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม แต่ยังไม่ชัดเจนว่ากลไกของวัคซีนอาจไปลดความเสี่ยงนั้นได้อย่างไร หรืออาจเป็นได้ว่าวัคซีนเป็นสาเหตุที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมโดยตรง หรือไม่ก็อาจมีปัจจัยอื่นที่มีส่วน” 

เธอกล่าวด้วยว่า ปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความเชื่อมโยงโดยตรงต่อการเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม ได้แก่ การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง และการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป

วัคซีนงูสวัด

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปอย่างอื่นอีก ได้แก่ องค์ประกอบในวัคซีนที่ถูกออกแบบมาให้ช่วยเหลือร่างกายของคนเราป้องกันไวรัส ซึ่งประเด็นนี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

ในสหราชอาณาจักร มีบริการฉีดวัคซีนโรคงูสวัดให้กับประชาชนที่อายุ 65 ปีบริบูรณ์ รวมทั้งคนที่มีอายุระหว่าง 70-79 ปี หรือคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ซึ่งในปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดแบบเก่าถูกแทนที่ด้วยวัคซีนชริงกริกซ์แล้ว

สำหรับวัคซีนงูสวัดที่ชื่อว่าชิงกริกซ์ ผลิตโดยบริษัทยาที่ชื่อว่า แกล็กโซสมิธไคลน์ หรือ GSK แต่บริษัทวัคซีนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยชิ้นนี้ อย่างไรก็ตาม มีหนึ่งในนักวิจัยที่ทำงานร่วมกับบริษัทวัคซีนในการวิจัยเรื่องอื่น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo