ทอม แอนดรูว์ส ผู้เขียนรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเมียนมา กล่าวแสดงความยินดีกับมาตรการของไทย ในการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อช่วยธนาคารพาณิชย์ของไทยตรวจสอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายอาวุธ กับรัฐบาลทหารเมียนมา
วีโอเอ รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลไทยประกาศจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ หลังจากรายงานของแอนดรูว์สเปิดเผยบทบาทของธนาคารพาณิชย์ของไทย ที่มีส่วนช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลทหารเมียนมาในการซื้ออาวุธ
“ถือเป็นการก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง และเป็นสัญญาณว่าไทยดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อยุติการซื้อขายอาวุธเหล่านี้” แอนดรูวส์ ระบุ
ก่อนหน้านี้ รายงาน Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar ระบุว่า มาตรการลงโทษระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาลดการซื้ออาวุธผ่านระบบการเงินโลกลงไปราว 1 ใน 3 ระหว่างปีงบประมาณ 2565-2566 เป็นมูลค่าราว 253 ล้านดอลลาร์
รายงานบอกด้วยว่า บริษัทต่าง ๆ ในไทยรับหน้าที่ให้บริการด้านการเงิน และการจัดหาอาวุธแทนที่ธุรกิจในสิงคโปร์ ที่เคยค้าขายกับสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หลังรัฐบาลสิงคโปร์ดำเนินการปิดบัญชีทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกองทัพเมียนมา
ในปี 2566 บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยดำเนินการจัดส่งอาวุธและวัสดุต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันเป็นมูลค่ากว่า 120 ล้านดอลลาร์ไปให้รัฐบาลทหารเมียนมา โดยตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าจากปี 2565
หลังจากรายงานดังกล่าวเปิดเผยออกมา ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ไทยกล่าวกับคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงแห่งชาติของสภาผู้แทนราษฎรไทยว่า ธนาคารต่าง ๆ ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการตรวจสอบธุรกรรมทั้งหมดกับเมียนมาได้ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจชุดใหม่โดยกระทรวงการต่างประเทศของไทย
แอนดรูวส์ หวังว่า การจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจนี้จะช่วยให้ไทยเดินรอยตามสิงคโปร์ในการตัดการทำธุรกรรมกับรัฐบาลทหารเมียนมาได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังมิได้ระบุว่าคณะทำงานชุดนี้จะเริ่มการตรวจสอบเมื่อใด และธุรกรรมประเภทไหนกับเมียนมาที่จะตกเป็นเป้าหมาย
ทางด้าน ฌอน เทอร์เนลล์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบัน Lowy ในออสเตรเลีย กล่าวว่า เป้าหมายของไทยที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาภาคการเงิน และปรับปรุงภาพลักษณ์บนเวทีโลก หลังจากอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมานานกหลายปี คือแรงจูงใจที่ดีสำหรับคณะทำงานชุดนี้ในการตรวจสอบการซื้ออาวุธของรัฐบาลทหารเมียนมา แม้ว่าวิธีที่นำมาใช้นั้นอาจนุ่มนวลกว่าแนวทางของสิงคโปร์ก็ตาม
นักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้ เชื่อว่า ต่อจากนี้รัฐบาลทหารเมียนมาอาจพยายามหาประเทศอื่น ที่เปิดรับการทำธุรกรรมของตนแทนไทย และสิงคโปร์ผ่านช่องโหว่ต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาจต้องเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินที่เป็นทางการน้อยลง หรืออาจต้องยอมจ่ายค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้น หรือแม้แต่ยอมจ่ายเงินสินบน รวมทั้งใช้ช่องทางที่ไม่เป็นทางการมากขึ้นด้วย
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ยูเอ็น’ ชี้ ‘ธนาคารไทย’ เบอร์ 1 ให้บริการการเงิน ‘กองทัพเมียนมา’ แทนที่สิงคโปร์
- ‘เมียนมา’ ห้ามผู้ชายไปทำงานต่างประเทศ ระดมกำลังสู้รบกลุ่มชาติพันธุ์
- ‘ยูเอ็น’ ระบุ เหตุสู้รบในเมียนมา ทำคนพลัดถิ่นร่วม 90,000 ราย
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg