World News

‘เวียดนาม-ไทย’ นำทัพอาเซียน ขับเคลื่อนสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’

รัฐบาลทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเดินหน้าผลักดันความพยายามที่จะสร้างเศรษฐกิจไร้เงินสดขึ้นมา โดยประเทศที่มีการพัฒนาน้อยกว่า อย่าง เวียดนาม และ ไทย แซงหน้าประเทศที่ร่ำรวยกว่าอย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย ขึ้นมา เป็นแกนนำในเรื่องนี้

rsz 240403

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า บริการชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในเวียดนาม และไทย มีประชาชนจำนวนมากขึ้นที่หันมาใช้ “อีวอลเล็ต” หรือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจ่ายค่าสินค้า และบริการ โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง เช่น ธนาคาร

รายงานระบุว่า เวียดนามดำเนินการส่งเสริมการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งในเวียดนามนั้น มีประชากรเพียง 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 95 ล้านคน ที่มีบัญชีธนาคาร ขณะที่มีการลงทะเบียนใช้งานมือถือราว 120 ล้านเครื่อง และมีการวางเครือข่ายโทรคมนาคมครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ

ที่ผ่านมา บรรดาบริษัทโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอที) ท้องถิ่น รวมถึง เวียดนาม โพสต์ แอนด์ เทเลคอมมูนิเคชันส์ กรุ๊ป เวียดเทล และ เอฟพีที ต่างเปิดให้บริการอีวอลเล็ต พร้อมส่งเสริมให้ผู้คนออกห่างจากการถือเงินสด แต่เรื่องนี้ก็เพิ่งจะมาเริ่มเห็นผลอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อไม่นานมานี้

รายงานของไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (พีดับเบิลยูซี)เมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีจำนวนผู้คนที่ชำระเงินค่าสินค้าผ่านมือถือตามร้านค้าต่างๆ เพิ่มขึ้นมากกว่าทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสัดส่วนของชาวเวียดนามที่ชำระเงินผ่านทางมือถือเพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 61% ในปี  2562

“บริการชำระเงินผ่านทางมือถือได้รับการยอมรับในวงกว้าง โดยเฉพาะในภูมิภาคเกิดใหม่ ที่มีการใช้งานมือถือ และสมาร์ทโฟน ในอัตราที่ก้าวกระโดดแซงหน้าระบบโทรศัพท์พื้นฐาน” พีดับเบิลยูซี ระบุ

แอพพลิเคชันชำระเงินผ่านทางมือถือ “โมโม” หนึ่งในบริการอีวอลเล็ตที่ได้รับความนิยมในเวียดนาม มีจำนวนผู้ลงทะเบียนสมาชิกถึง 10 ล้านคนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้ว

mobile payment the next big thing

บริการของแอพนี้เปิดทางให้ผู้ใช้งานสามารถชำระค่าบริการ ส่งเงิน หรือซื้อของผ่านจุดรับชำระมากกว่า 100,000 จุดทั่วประเทศ รวมถึง ในเซอร์เคิล เค และมินิสต็อป เชนร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่น

“ซาโลเพย์” สตาร์ทอัพชำระเงินผ่านทางมือถือของเวียดนามอีกรายหนึ่งก็เติบโตอย่างรวดเร็วนับแต่ที่บริษัทเปิดให้บริการเมื่อปี 2550 จากการพึ่งพาเครือข่ายสมาชิกที่มีอยู่ราว 100 ล้านรายของบริษัทแม่ “วีเอ็นจี” แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และบันเทิงออนไลน์ ซึ่งวีเอ็นจี ขึ้นชื่อว่าเป็นยูนิคอร์นรายแรกของเวียดนาม ด้วยการเป็นบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีมูลค่าราว 1,000 ล้านดอลลาร์

แม้กระทั่ง “จีไอซี” กองทุนบริหารความมั่งคั่งของสิงคโปร์ ก็วางเดิมพันกับตลาดชำระเงินผ่านมือถือของเวียดนาม โดยจีไอซีเป็นแกนนำนักลงทุน ที่เข้าลงทุนในการระดมทุนรอบแรกของ “วีเอ็นเพย์” ซึ่งระดมทุนมาได้มากกว่า 50 ล้านดอลลาร์

ตลาดชำระเงินออนไลน์ของเวียดนาม ยังได้แรงหนุนจากรัฐบาล ซึ่งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ออกเอกสารขอให้ธนาคารกลางเวียดนาม หาแนวทางใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการใช้อีวอลเล็ต อาทิ การอนุญาตให้ผู้บริโภคสามารถเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านบัญชีธนาคาร ทั้งยังอนุมัติโครงการนำร่อง ที่เปิดทางให้มีการโอนเงิน และซื้อสินค้าผ่านทางบัญชีโทรศัพท์มือถือ สำหรับการทำธุรกรรมขนาดเล็กได้

ในส่วนของไทยนั้น มีอัตราการชำระเงินผ่านมือถือมากสุดในภูมิภาคที่ 67% โดยบริการนี้ได้รับความนิยมมากในหมู่คนไทย ที่ส่วนใหญ่ไม่มีบัตรเครดิต หรือเช็ค โดยเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว 4 ธนาคารรายใหญ่ของไทย คือ ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และ กรุงไทย ได้ปรับลด หรือยกเลิกค่าธรรมสำหรับการทำธุรกรรมออนไลน์ หรือบนมือถือ และมีธนาคารขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่ออกมาตรการแบบเดียวกันนี้

แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับแผนการของรัฐบาลไทย ที่จะผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดขึ้นมา ซึ่งการชำระเงินดิจิทัล ช่วยทำให้เกิดการซื้อขายเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ และช่วยให้ธุรกิจขนาดกลาง และย่อม เข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ ทั้งยังจะช่วยขจัดการให้สินบน หรือการคอร์รัปชันรูปแบบอื่นๆ

uobmighty

ทางด้านประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พัฒนาไปมากกว่าไทย และเวียดนาม อาทิ สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ต่างมีอัตราการชำระเงินผ่านมือถือในระดับที่ต่ำกว่า แม้ว่ารัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะพยายามหาทางให้ผู้คนลดการใช้เงินสดก็ตาม

การจ่ายเงินสด และเช็ค ยังคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของการชำระเงินในสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์มีเครือเอทีเอ็มอยู่หนาแน่นมาก โดยในปี 2560 สิงคโปร์มีตู้เอทีเอ็มมากกว่า 65 ตู่ ต่อประชากรวัยผู้ใหญ่ 100,000 คน

อย่างไรก็ดี รัฐบาลสิงคโปร์ยังไม่ยอมแพ้กับเรื่องนี้ โดยเมื่อปีที่แล้ว ได้ประกาศเป้าหมายที่จะลดการใช้เงินสด และทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่ปลอดจากเช็คภายในปี 2568

ทั้งสมาคมธนาคารในสิงคโปร์ ก็ได้เปิดตัว “เพย์นาว” บริการที่เปิดทางให้ผู้มีบัญชีธนาคาร สามารถโอนเงินไปให้คนอื่นๆ ได้ด้วยการใช้หมายเลขโทรศัพท์ แทนหมายเลขบัญชีธนาคาร

Avatar photo