World News

เมินวิกฤติโรฮิงญา! บริษัทญี่ปุ่นรุกหนักลงทุนเมียนมา

บริษัทญี่ปุ่นรุกเข้าลงทุนในเมียนมาอย่างหนัก สวนทางการลงทุนจากยุโรป และอเมริกา ที่ถอยห่างจากประเทศ จากวิกฤติโรฮิงญา

japanmyanmar

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ในปีงบประมาณที่ผ่านมา สิ้่นสุดเมื่อเดือนมีนาคม ธุรกิจญี่ปุ่นได้รับอนุมัติเข้าลงทุนในเมียนมามากเป็นประวัติการณ์ถึง 1,470 ล้านดอลลาร์

มูลค่าการลงทุนดังกล่าว ที่รวมถึงเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาผ่านหน่วยงานในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่สุดของเมียนมาในรอบ 1 ปี โดยที่จีนยังครองตำแหน่งนักลงทุนรายใหญ่สุดของเมียนมา ที่ 1,390 ล้านดอลลาร์

เมื่อปีงบประมาณ 2557 ญี่ปุ่นก็เคยทำสถิติเข้าลงทุนในประเทศนี้มากถึง 1,020 ล้านดอลลาร์มาแล้ว

ข้อมูลจากฝ่ายญี่ปุ่น ของสำนักงานบริหารจัดการการลงทุน และบริษัทเมียนมา (ดีไอซีเอ) ยังแสดงให้เห็นว่า เกือบครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินลงทุนญี่ปุ่น มุ่งไปในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

Myanmar

บริษัทอย่างฟูจิตะ และโตเกียว ทาเตโมโนะ ได้จับมือกับบริษัทท้องถิ่น สร้างพื้นที่พาณิชย์ขนาด 16,000 ตารางเมตร ใกล้กับเจดีย์ชเวดากอง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในนครย่างกุ้ง ซึ่งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาระบบการขนส่งของประเทศญี่ปุ่น (จอยน์)ได้เข้าถือหุ้นในโครงการนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทคาจิมะ ที่ได้รับเลือกจากสมาคมนักลงทุนเพื่อการพัฒนาเมืองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เจโค้ด) หน่วยงานที่กระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นจัดตั้งขึ้นมา ให้เข้าร่วมในโครงการที่ทำร่วมกับรัฐบาลเมียนมาอีกโครงการหนึ่ง ซึ่งทั้ง 2 โครงการดังกล่าว มีมูลค่าโครงการละ 300 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ บริษัทจำนวนมากต่างให้ความสนใจที่จะเข้าลงทุนในเมียนมา ที่มีประชากรราว 50 ล้านคนมากขึ้น โดยมีจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาสร้างศูนย์นำเข้าแห่งใหม่ และมีการดำเนินงานเพื่อเพิ่มการผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทิละวาท ใกล้กับนครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นโครงการที่ญี่ปุ่น และเมียนมา ร่วมลงทุนพัฒนา

บริษัทญี่ปุ่นที่เข้าลงทุนในทิละวา รวมถึง ยีเอส ยัวซ่า ผู้ผลิตแบตเตอรีชั้นนำ ที่ลงทุนราว 100 ล้านดอลลาร์ ผ่านบริษัทลูกในไทย สร้างศูนย์นำเข้าแห่งใหม่ที่ทิละวา สำหรับการผลิตแบตเตอรีรถยนต์ และใช้ในบ้าน

นอกจากนี้ ยังมีเจเอฟอี สตีล บริษัทในเครือเจเอฟอี โฮลดิ้งส์ ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน และมีแผนที่จะผลิตแผ่นเหล็กรีดลอนที่นี่ด้วย

เมื่อปีงบประมาณที่แล้ว ยอดการลงทุนโดยรวมในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิละวา พุ่งถึง 400 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ 239 ล้านดอลลาร์มาจากบริษัทญี่ปุ่น

Add Friend

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight