World News

‘ข้อตกลงหยุดยิงเมียนมา’ สะท้อน ‘ผลประโยชน์ซับซ้อน’ ของจีน

นักวิเคราะห์ชี้ “ข้อตกลงหยุดยิงเมียนมา” ที่ทำขึ้นระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ และกองทัพเมียนมา แม้จะมีอายุไม่ถึง 1 วัน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึง “ผลประโยชน์อันซับซ้อน” และ “ขีดจำกัด” ในอิทธิพลของ “จีน” ตัวกลางการเจรจา ที่มีต่อภูมิภาคนี้ 

สำนักข่าววีโอเอ รายงานว่า “ข้อตกลงไห่เก็ง” ซึ่งเป็นข้อตกลงหยุดยิงในพื้นที่ทางตอนเหนือของเมียนมา ที่มีจีนเป็นตัวกลางการเจรจา และประกาศออกมาเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมานั้น มีอายุขัยอยู่เพียงไม่ถึง 1 วัน โดยผู้เห็นเหตุการณ์ในพื้นที่ ระบุว่า เกิดการยิงปะทะกันทั่วรัฐฉาน ทางตอนเหนือของเมียนมา ที่ติดกับพรมแดนจีน

ข้อตกลงหยุดยิงเมียนมา

เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา เล้าก์ก่าย เมืองพรมแดนเมียนมากับจีนที่มีชื่อเสียงด้านการพนัน การค้าประเวณี และอาชญากรรมไซเบอร์ ตกอยู่ในการครอบครองของกลุ่มพันธมิตรสามภราดร ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ ประกอบไปด้วย กองกำลังพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (MNDAA) กองทัพอาระกัน (AA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง ( TNLA)

โดยทางกลุ่มเพิ่งประกาศจัดตั้งการปกครองตนเอง หลังจากเดินหน้าภารกิจ “ปฏิบัติการ 1027” ของกลุ่มพันธมิตรกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์มาตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน

นายต่าน โซ นาย ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน และเมียนมา อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (Communist Party of Burma) แสดงความเห็นว่า ผลประโยชน์หลักของการเจรจาสันติภาพเมียนมา อยู่บนความต้องการของจีน ในการกลับมาเปิดเส้นทางการค้าระหว่างเมียนมา และมณฑลยูนนาน

“มุมมองของจีนเห็นว่า การจัดการกับเมืองที่อยู่บนเส้นทางการค้าระหว่างจีน และเมืองในเมียนมาอย่างมัณฑะเลย์ ลาโช ด้วยวิถีทางเดียวกับที่ใช้กับเมืองเล้าก์ก่าย อาจสามารถช่วยเปิดเส้นทางการค้าได้” 

ข้อตกลงหยุดยิงเมียนมา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมาจะตอบรับความช่วยเหลือของจีนหรือไม่นั้นยังคงเป็นประเด็นคำถามอยู่ เพราะหากเมืองลาโชเต็มไปด้วยกองทัพแล้ว การต่อสู้อันดุเดือดในพื้นที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนและเมียนมารายนี้ บอกด้วยว่า จีนอาจจะสนับสนุนการพัฒนาในรูปแบบนี้ในลาโชเช่นกัน เนื่องจากเมืองดังกล่าวเป็นเมืองใหญ่สุดในรัฐฉาน และตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นจุดสิ้นสุดของ “Burma road” เส้นทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมต่อเมืองลาโช ไปยังมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของฐานทัพใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นเป้าหมายต่อไปของพันธมิตรสามภราดร

ขณะที่ นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการโครงการเมียนมา แห่งสถาบันสันติภาพสหรัฐ เชื่อว่า จีนจะเลือกเส้นทางแห่งการประนีประนอม ซึ่งรัฐบาลทหารเมียนมาจะยอมยกพื้นที่บางส่วนทางตอนเหนือ ในขณะที่พันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์จะลดเป้าหมายในการต่อสู้

ที่ผ่านมา จีนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการในพื้นที่ตอนเหนือของเมียนมา อย่างเช่น เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเยวา บริเวณแม่น้ำชเวลี ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จก่อนที่กองทัพเมียนมาจะก่อรัฐประหารเมื่อปี 2564 และรัฐบาลทหารเมียนมาพยายามกลับมาฟื้นโครงการดังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้

“จีนอยู่ในฝั่งที่ทั้งช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ในการรุกคืบบางพื้นที่ด้วยเป้าหมายทางการเมือง ขณะเดียวกัน ก็ยื่นมือเข้าช่วยกองทัพเมียนมา ด้วยการกดดันกลุ่มพันธมิตรสามภราดรด้วย โดยจีนยังคงดำเนินธุรกิจกับกองทัพเมียนมา อย่างเช่น โครงการท่าเรือน้ำลึกในรัฐยะไข่ และจีนยังถือว่ากองทัพเมียนมายังมีประโยชน์กับจีนอยู่” 

ข้อตกลงหยุดยิงเมียนมา

ส่วนนายลาห์ จอว์ ซอว์ นักวิชาการพม่า-จีน ประจำอยู่ในประเทศจีน บอกว่า นโยบายโดยทั่วไปของรัฐบาลปักกิ่งคือ  “เปิดกว้างกับทุกฝ่าย” โดยจีนยังหวังว่า การรักษาเสถียรภาพพรมแดน จะช่วยในการต่อสู้กับอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในโกก้าง และมุ่งเป้ามายังพลเมืองจีนเป็นหลัก หลังจากความสำเร็จของ “ปฏิบัติการ 1027”  รัฐบาลปักกิ่งเห็นโอกาสที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรสามภราดรในการเข้าจัดการกับนักต้มตุ๋นเหล่านี้

“จีนเห็นความจริงที่ว่าแก๊งอาชญากรรมไซเบอร์ได้รับการปกป้องจากกองทัพเมียนมา ทำให้ยากสำหรับจีนที่จะหยุดขบวนการนี้ในการมุ่งเป้าพลเรือนชาวจีน แม้ว่ากองทัพเมียนมาจะให้คำมั่นในการร่วมมือกับจีนในการปราบปราบขบวนการดังกล่าวก็ตาม” 

กระนั้นก็ตาม นายทาวเวอร์ มองว่าผลประโยชน์ของจีนในภูมิภาคนี้ “ยิ่งใหญ่กว่าการกวาดล้างขบวนการอาชญากร”

“ผลประโยชน์ที่ใหญ่กว่าในภูมิภาคนี้คือ ความมั่นคงด้านพลังงานของจีน เนื่องจากเมียนมาจัดส่งก๊าซธรรมชาติไปจีน ในรูปแบบของโครงการท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติจีน-เมียนมา ซึ่งส่งก๊าซธรรมชาติไปให้กับ 4 มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และช่วยกระตุ้นผลผลิตมวลรวมในประเทศในแก่มณฑลยูนนานอย่างมีนัยสำคัญ” 

เขาย้ำว่า เรื่องดังกล่าวคือ เหตุผลที่จีนผลักดันพันธมิตรสามภราดรให้ยุติการปฏิบัติในวงกว้าง ระหว่างที่พยายามหารือกับกองทัพเมียนมาไปพร้อมกัน

ข้อตกลงหยุดยิงเมียนมา

ภาพ: เฟซบุ๊กเพจ AA Info DeskKnow Shan State

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo