World News

ความหวังใกล้เป็นจริง! สื่อนอกชี้ ‘ไทย’ ใกล้ผ่านกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’

สื่อนอกตีข่าว “ไทย” หนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่าเปิดกว้าง และยอมรับความหลากหลายทางเพศมากที่สุดในเอเชีย ใกล้ผ่านกฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” เปิดทางให้คนเพศเดียวกัน แต่งงานกันได้อย่างมีสิทธิทางกฎหมาย หลังสภาผู้แทนราษฏรลงมติผ่านร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ในวาระที่ 1 

วีโอเอ รายงานว่า ในการประชุมนัดล่าสุด สมาชิกสภาล่างของไทยมีมติ 360 ต่อ 10 ผ่านร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งจะถูกเสนอขึ้นพิจารณาต่ออีก 2 วาระ และหากได้รับเสียงสนับสนุนผ่านต่อไปจนได้รับการลงพระปรมาภิไธย ทั้งหมดก็จะถูกประกาศใช้เป็นกฎหมายในที่สุด

สมรสเท่าเทียม

ความคืบหน้าในการผ่านร่างพ.ร.บ.ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงการเห็นพ้องต้องกันในบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคก้าวไกล หนึ่งในกลุ่มผู้ผลักดันการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม แสดงความเห็นว่า เรื่องที่เกิดขึ้นในสภา เมื่อวานนี้ (21 ธ.ค.) ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของไทย ที่ทุกฝ่ายเข้ามาทำงานร่วมกัน

เขายังแสดงความหวังว่า การเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินอยู่นี้ จะช่วยให้สังคมไทยเป็นสถานที่ ที่บุคคลข้ามเพศจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้งรังแก แต่สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทในสังคมได้เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ

ภายหลังการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นลง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความทาง “เอ็กซ์” แสดงความยินดีต่อความก้าวหน้าดังกล่าว และว่า ก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลง ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ก่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้งหมดนี้ วาดดาว ชุมาพร นักเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศ กล่าวต่อหน้าที่ประชุมสภาว่า การผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการผ่านกฎหมายต่าง ๆ ถือเป็นคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐ ที่พรากสิทธิ์ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จากประชาชน

“คำขอโทษเหล่านี้ จะเป็นคำมั่นสัญญาที่หนักแน่นที่สุด ที่รัฐจะประกาศให้กับเยาวชนเพศหลากหลาย ให้กับครอบครัวเพศหลากหลาย และให้กับทุกคนที่ต้องการอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ ด้วยความสุข ความเสมอภาคและความเป็นธรรม”

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังจับตาดูการเดินหน้าพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้งหมดนี้ในวาระต่อ ๆ ไป โดยกลุ่มวิจารณ์รัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้ความเห็นว่า การช่วยให้กฎหมายดังกล่าวเดินหน้าไปสู่การประกาศใช้ได้ ไม่ควรเป็นเหตุผลที่ประชาชนจะลืมไปว่า พรรคผู้นำรัฐบาลนี้ ปฏิเสธที่จะสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะทำให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น หรือการที่พรรคแห่งนี้ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องประเด็นการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112

ขณะที่ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย บอกว่า พรรคเพื่อไทยนั้น ใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมกันเพื่อหลบเสียงร้องเรียน และคำถามจากประชาชนเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

สมรสเท่าเทียม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo