World News

‘บริการหลังการขาย’ สนามรบใหม่ ‘แอร์บัส-โบอิง’

แอร์บัส และโบอิง อาจสร้างความสำเร็จระดับโลกด้วยการจัดหาเครื่องบินให้กับสายการบินต่างๆ ทั่วโลก แต่ล่าสุด ยักษ์ใหญ่ด้านอากาศยานทั้ง 2 รายนี้ กำลังเล็งไปอีกเซคเมนท์หนึ่งของภาคการบิน คือ ชิ้นส่วน และการซ่อมบำรุงเครื่องบิน ในความพยายามที่จะแย่งชิงกันเป็นเจ้าตลาดการบินโลก

A350 XWB Flight Display Day04 ILA2018 008

แม้ผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ทั้ง 2 รายนี้ จะได้อานิสงส์จากภาวะเฟื่องฟูในการเดินทางทางอากาศ ที่ช่วยหนุนให้ต้องเพิ่มการผลิตมากขึ้น แต่ตลาดบริการหลังการขายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์นี้ ก็กำลังมีความน่าสนใจมากขึ้นไม่แพ้กัน

ทั้งแอร์บัส และโบอิง ต่างรุกขยายกิจการในด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งครอบคลุมถึงการซ่อม ซ่อมบำรุง ปรับปรุงเครื่องบิน และบริการอื่นๆ ไล่ตั้งแต่ฝึกอบรม ไปจนถึงการจัดหาชิ้นส่วน

ที่ผ่านมาทั้ง 2 บริษัทมีการดำเนินธุรกิจให้บริการหลังการขายอยู่บ้างแล้ว แต่ปัจจุบันเรียกได้ว่า หันมารุกตลาดนี้อย่างเต็มที่ เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาด และแข่งขันกับผู้เล่นรายอื่นๆ อย่าง ลุฟต์ฮันซา เทคนิค ของเยอรมนี และเอเออาร์ ของสหรัฐ

ชูคอร์ ยูซอฟ นักวิเคราะห์ จากเอนโด อะนาไลติคส์ บริษัทวิจัยด้านการบินในมาเลเซีย แสดงความเห็นว่า ตลาดบริการหลังการขาย มีมูลค่ามากกว่าการขายเครื่องบินจริงๆ เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพมากกว่า และครอบคลุมหลายด้าน

“โบอิง และแอร์บัส เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้อยู่แล้ว เมื่อคุณขายเครื่องบินสักลำหนึ่ง ก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะมีการขายบริการหลังการขายอย่างเต็มรูปแบบตามไปด้วย”

โบอิงประเมินว่า เครื่องบินประมาณ 41,000 ลำ ที่บริษัทมีกำหนดส่งมอบให้ทั่วโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าราว 6 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ความต้องการบริการเพื่อสนับสนุนฝูงบินเหล่านี้ จะมีมูลค่าราว 8.5 ล้านล้านดอลลาร์

Airlog II 03

ในสิงคโปร์นั้น แซทแอร์ กรุ๊ป บริษัทในเครือแอร์บัส เป็นเจ้าของโกดังสินค้าขนาด 11,000 ตารางเมตร ที่ใช้สำหรับเก็บสำรองอะไหล่ และชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องบินรุ่นต่างๆ ไล่ตั้งแต่ชิ้นส่วนที่มีมูลค่าหลายแสนดอลลาร์ ไปจนถึงราคาเพียงไม่กี่เซนต์

โกดังแห่งนี้ ซึ่งเป็นโกดังเก็บชิ้นส่วนขนาดใหญ่สุดในเอเชีย และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ของแอร์บัส สามารถจัดส่งชิ้นส่วนต่างๆ ได้ในเวลาเพียง 4 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับคำสั่งซื้อเข้ามา

ภายในปี 2562 แอร์บัส ซึ่งมีรายได้จากบริการหลังการขายในปี 2560 เพิ่มขึ้น 18% ที่ 3,200 ล้านดอลลาร์ ยังมีแผนที่จะขยายโกดังแห่งนี้เพิ่มขึ้นอีก 8,000 ตารางเมตร
ทั้งแอร์บัส และโบอิง ยังมีศูนย์อบรมนักบินขนาดใหญ่ในสิงคโปร์ด้วย

แข่งขันดุเดือด

คู่แข่งในอุตสาหกรรมการบินคู่นี้ ยังถือเอาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องบินที่พวกเขาผลิต เป็นข้อได้เปรียบในการจัดหาบริการหลังการขาย เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ รวมถึง ตัวสายการบินเอง

Airlog II 01

“เรารู้จักเครื่องบินของเราดีที่สุด เพราะเราเป็นคนออกแบบมาเอง เรามีความสามารถในทุกด้านที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของสายการบิน และมีความสามารถทางการแข่งขันสูง ในแง่ของอะไหล่” ลอเรนท์ มาร์ติเนส หัวหน้าฝ่ายบริการแอร์บัส กล่าว

ในงานนิทรรศการทางการบิน “สิงคโปร์ แอร์โชว์” เมื่อไม่นานมานี้ แรนดี ทินเซธ รองประธานบริการฝ่ายการตลาดโบอิง คอมเมอร์เชียล แอร์เพลนส์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดบริการหลังการขายเพียง 7% เท่านั้น แต่ยังมองเห็นพื้นที่ว่างในการเติบโตอีกมาก

“ผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่ในทุกวันนี้ สามารถแก้ปัญหาในตลาดได้ราว 30% เท่านั้น ซึ่งถ้าหากตลาดโตราว 5% ต่อปี และเราพุ่งความสนใจไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากขึ้น เราก็คาดว่า จะเห็นการเติบโตอย่างน่าเหลือเชื่อในธุรกิจของเรา”

K64512

งานสิงคโปร์ แอร์โชว์ เน้นให้เห็นความสำคัญที่มากขึ้นของภาคบริการหลังการขาย โดยข้อตกลงขนาดใหญ่สุดที่เกิดขึ้นในงานนี้ ไม่ได้เป็นคำสั่งซื้อเครื่องบิน แต่เป็นสัญญามูลค่าเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ ของหน่วยงานด้านบริการหลังการขายของโบอิง ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว ในฐานเครื่องมือที่บริษัทจะรุกเข้าไปในตลาดบริการหลังการขาย

ทั้งนี้ โบอิง และแอร์บัส ต่างพุ่งเป้ามาที่ตลาดเอเชียแปซิฟิก จากการที่ตลาดการบินในภูมิภาคนี้กำลังขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ผู้คนมีฐานะดีขึ้น และคนจำนวนมากเพิ่งจะเดินทางทางอากาศเป็นครั้งแรก

มาร์ติเนส จากแอร์บัส คาดการณ์ว่า เอเชีย แปซิฟิก จะคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของตลาดบริการหลังการขายโดยรวมในอีก 20 ปีข้างหน้า จากการที่จำนวนเครื่องบินในภูมิภาคนี้จ่อเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ภายในปี 2579


Add Friend

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight