World News

ยักษ์ธุรกิจเจ็บหนัก สหรัฐกลับลำอิหร่าน

การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ได้กลายมาเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจใหม่ของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายราย รวมถึง โบอิง แอร์บัส และเจนเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี)

000 14O2LZ
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในเอกสารฟื้นมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน หลังประกาศถอนสหรัฐ ออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

สองยักษ์ใหญ่ด้านอากาศยาน “โบอิง” และ “แอร์บัส” อยู่ในกลุ่มของบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังสหรัฐ ให้เข้าไปทำธุรกิจในอิหร่านได้ ภายใต้การดูแลอย่างเข้มงวด หลังจากที่มีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรประเทศในตะวันออกกลางรายนี้ จากการทำข้อตกลงเมื่อปี 2558

แม้จะมีการผ่อนคลายดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่สหรัฐยังคงห้ามพลเมืองอเมริกันเข้าไปดำเนินงานในอิหร่าน และห้ามสินทรัพย์อิหร่านมาเข้าร่วมในระบบการเงินสหรัฐด้วย

ในการประกาศเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ได้ให้เวลาบริษัทต่างๆ 90-180 วัน ที่จะจัดการยกเลิกสัญญาธุรกิจต่างๆ ที่มีอยู่

บริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจล่าสุดของสหรัฐ รวมถึง

โบอิง และแอร์บัส

000 14O5BB

ที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ด้านอากาศยานทั้ง 2 ราย อาจจะเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์มากสุดจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน จากการที่อิหร่านตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงฝูงบินของตัวเองให้ทันสมัย

เมื่อเดือนธันวาคม 2559 โบอิง ประกาศข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ขายเครื่องบินให้อิหร่าน 80 ลำ มูลค่า 16,600 ล้านดอลลาร์

ทั้งในเดือนเมษายน 2560 ยังประกาศข้อตกลงขายเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ จำนวน 30 ลำให้กับสายการบินอิหร่าน อาเซมาน แอร์ไลนส์ มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมสิทธิซื้อเพิ่มอีก 30 ลำ ซึ่งโบอิง เคยบอกว่า การทำสัญญากับอิหร่าน จะช่วยสร้างงานหลายพันตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี ยักษ์ใหญ่การบินสัญชาติสหรัฐรายนี้ บอกว่า จะปฏิบัติตามนโยบายของสหรัฐในเรื่องอิหร่าน

ขณะที่ แอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของยุโรป ก็ได้ประกาศข้อตกลงกับสายการบินอิหร่าน 2 ราย คือ อิหร่าน แอร์ ทัวร์ และซากรอส แอร์ไลนส์ รวมทั้งหมด 100 ลำ

การที่แอร์บัสมีการดำเนินงานในสหรัฐอยู่ด้วยนั้น ทำให้บริษัทตกเป็นเป้าที่จะโดนสหรัฐคว่ำบาตรไปด้วย หากยังเดินหน้าทำการค้ากับอิหร่าน

เจนเนอรัล อิเล็กทริก โฟล์คสวาเก้น โททาล พีเอสเอ

000 14O5BI

นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา บริษัทลูกของจีอีที่ดำเนินงานอยู่นอกสหรัฐ ทำสัญญามูลค่าโดยรวมหลายสิบล้านดอลลาร์ สำหรับการจัดหาอุปกรณ์ให้กับโครงการผลิตน้ำมัน รวมถึง การสร้างโรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานปิโตรเคมีของอิหร่าน

ขณะที่โททาล ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมน้ำมันฝรั่งเศส มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียสัญญาในการเข้าไปช่วยพัฒนาแหล่งน้ำมันเซาธ์ พาร์ส ในอิหร่าน ซึ่งโททาลเตือนว่า สถานการณ์ของบริษัทในโครงการต่างๆ ข้างต้น ขึ้นอยู่กับสถานะของข้อตกลงนิวเคลียร์ในภาพรวม

ส่วนโฟล์กสวาเก้น ค่ายรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนี ก็ออกมาประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า ได้ฟื้นฟูการขายรถยนต์ในอิหร่านขึ้นมาใหม่ เช่นเดียวกับพีเอสเอ เปอโยต์ ซีตรอง ผู้ผลิตรถยนต์ฝรั่งเศส ที่เพิ่งบรรลุข้อตกลงในปี 2560 ขายรถยนต์ในอิหร่าน และมีรายงานถึงยอดขายที่เพิ่มสูงขึ้น

พีเอสเอ ยังเคยแสดงความสนใจที่จะกลับเข้าไปในตลาดสหรัฐอีกครั้ง ซึ่งเป้าหมายนี้จะบีบให้บริษัทต้องทบทวนแผนการลงทุนในอิหร่านใหม่

เดินทาง และโรงแรม

สายการบินบริติช แอร์เวย์ส ของอังกฤษ และลุฟต์ฮันซา จากเยอรมนี ที่ต่างฟื้นเที่ยวบินไปอิหร่านขึ้นมาอีกครั้ง อาจต้องถูกบีบให้เลือกที่จะเก็บธุรกิจในอิหร่านไว้ หรือรักษาเที่ยวบินระหว่างประเทศกับสหรัฐเอาไว้

tehran axis imam khomeini international hotel rectangle large

ปัญหาเดียวกันนี้ ยังเกิดขึ้นกับเชนโรงแรมฝรั่งเศส อย่าง แอคคอร์ ที่เพิ่งเปิดโรงแรมในอิหร่านไปเมื่อปี 2558 รวมถึงโรงแรมต่างๆ ในอิหร่าน อย่าง เมอเลีย โฮเต็ลส์ อินเตอร์เนชันแนล ของสเปน และโรทานา โฮเต็ลส์ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

แตกหักพันธมิตร! สหรัฐถอนตัวข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight