World News

นายกฯ เยอรมนี ประสานเสียง นักวิเคราะห์ ยัน ‘ดอยซ์ แบงก์’ สถานะการเงินแกร่ง ไม่ซ้ำรอย ‘เครดิต สวิส’

นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ประสานเสียงนักวิเคราะห์ ยืนยัน “ดอยซ์ แบงก์” ธนาคารรายใหญ่สุดของเยอรมนี เป็นธนาคารที่ทันสมัย ทำกำไรได้อย่างมาก ไม่กลายเป็นปัญหาต่อจาก “เครดิต สวิส”

นายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่า ดอยซ์แบงก์ได้ผ่านการปรับโครงสร้างแล้ว และมีการปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย รวมทั้งเป็นธนาคารที่สามารถทำกำไรอย่างมาก นักลงทุนจึงไม่ควรคาดเดาเกี่ยวกับอนาคตของทางธนาคาร

ดอยซ์ แบงก์

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายรายก็ได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนเช่นกัน โดยระบุว่า ดอยซ์แบงก์ จะไม่กลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปจากเครดิต สวิส โดยธนาคารมีกำไรถึง 5,000 ล้านยูโร ในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 159% เมื่อเทียบกับปี 2564 และสามารถทำกำไรถึง 10 ไตรมาสติดต่อกัน

ดอยซ์แบงก์ได้ตกเป็นเป้าสนใจของนักลงทุนทั่วโลก หลังจากที่ราคาหุ้นของทางธนาคารดิ่งลงทั้งในตลาดยุโรป และสหรัฐ หลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี

นอกจากนี้ นักลงทุนแห่เทขายตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) หรือ AT1 ของดอยซ์แบงก์เช่นกัน หลังจากที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ประกาศตัดมูลค่า AT1 ของเครดิต สวิส ลงเหลือศูนย์ ซึ่งสร้างความไม่มั่นใจต่อนักลงทุนในการถือครอง AT1 ของดอยซ์แบงก์ หากธนาคารเกิดการล้มละลาย

ทั้งนี้ ดอยซ์แบงก์ เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนี โดยมีสินทรัพย์ทั้งหมดราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการราว 8.8 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ดอยซ์แบงก์ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่ม Systemically Important Financial Institution (SIFI) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ หรืออยู่ในกลุ่ม “Too big to fail” ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่าจะล้ม โดยภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้วิกฤตธนาคารในกลุ่มดังกล่าวลุกลามไปทั่วระบบการเงิน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo