World News

‘อนามัยโลก’ เตือน! กิน ‘โซเดียม’ เกินไป อันตรายถึงชีวิต

“โซเดียม” เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อและประสาทเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งยังช่วยรักษาสมดุลของน้ำ และแร่ธาตุในร่างกาย แต่หากมีโซเดียมในอาหารมากเกินไปก็จะเป็นอันตรายต่อชีวิต

คนเรามักจะบริโภคโซเดียมเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เพราะโซเดียมไม่ได้มีรสเค็มจัดอย่างเกลือ แต่โซเดียมมีอยู่มากในเครื่องปรุงรส จำพวกผงชูรส ผงปรุงรส ซุปก้อน อีกทั้งยังมีในผงฟูที่ใช้ทำขนมปัง สารกันบูดต่าง ๆ ซึ่งพบได้ทั่วไปในอาหาร และเครื่องดื่มที่เก็บไว้นาน รวมถึงในอาหารตามธรรมชาติ

โซเดียม

วีโอเอ รายงานว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) “ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส” ได้บอกไว้ว่า ในแต่ละปี มีผู้คนเกือบ 2 ล้านคน เสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคโซเดียมมากเกินไป

เกเบรเยซุส ชี้ว่า การบริโภคโซเดียมมากเกินไป จะทำให้ความดันเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด แต่ถึงอย่างนั้น ทั่วโลกก็ยังบริโภคโซเดียมโดยเฉลี่ย มากกว่าที่ทางอนามัยโลกแนะนำถึง 2 เท่า

ตามคำแนะนำของอนามัยโลกนั้น ผู้ใหญ่ควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือบริโภคเกลือไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน ซึ่งเท่ากับเกลือประมาณ 1 ช้อนชาเท่านั้น

ผลสำรวจของทางองค์กร ในการสอบถาม 194 ประเทศเกี่ยวกับการรณรงค์ เพื่อลดการบริโภคโซเดียม ในหมู่ประชากรของตัวเองนั้น ยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศเหล่านี้ยังห่างไกลจากการไปถึงเป้าหมายของโลกในการลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568

โดยมีชาติสมาชิกอนามัยโลกเพียง 5% เท่านั้นที่นำเอานโยบายลดโซเดียมไปใช้ ขณะที่ 73% ของประเทศสมาชิกไม่ได้นำนโยบายเหล่านั้นมาใช้อย่างเต็มที่

ฟรานเชสโก บรานกา ผู้อำนวยการแผนกโภชนาการเพื่อสุขภาพ และการพัฒนาขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า การลดโซเดียมเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยประหยัดงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพ และลดภาระการรักษาโรคที่ไม่ติดต่อ เพราะจะเป็นการลดความเสี่ยงของอาการ และความตายที่เกี่ยวกับโรคหัวใจ และหลอดเลือด โดยใช้ทุนต่ำมาก

ทั้งนี้ โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก คร่าชีวิตผู้คนเกือบ 18 ล้านคน โดยที่มากกว่า 4 ใน 5 ของการเสียชีวิตเหล่านี้ เกิดจากหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง และ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตอายุต่ำกว่า 70 ปี

โซเดียม

แค่ 9 ประเทศประสบความสำเร็จลดโซเดียม

รายงานของอนามัยโลกฉบับนี้พบว่ามีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นที่นำเอานโยบายลดโซเดียมขององค์การมาใช้อย่างเต็มที่ คือ บราซิล ชิลี สาธารณรัฐเช็ก ลิธัวเนีย มาเลเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย สเปน และอุรุกวัย

ชิลี ได้ผ่านกฎหมายควบคุมการโฆษณา และการทำฉลากอาหาร บังคับให้ติดป้ายเตือนปริมาณโซเดียมในด้านหน้าของผลิตภัณฑ์ จำกัดการโฆษณาอาหารที่มีป้ายเตือนการใช้โซเดียมสูง และห้ามไม่ให้โรงเรียนซื้ออาหารเหล่านั้น

หลังจากชิลีผ่านกฎหมายนี้ อาร์เจนตินา บราซิล เม็กซิโก และอุรุกวัยก็ได้ผ่านนโยบายลักษณะเดียวกัน

บรานกา ระบุว่า อาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง มักจะมาจากอาหารที่มีการแปรรูป ที่มีจำหน่ายในประเทศที่มีรายได้สูง และกำลังขยายไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ

เขากล่าวว่าการที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ออกมาจำกัดอาหารที่ใช้โซเดียมในการแปรรูปจะส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปในอุตสาหกรรมอาหาร เป็นการช่วยจำกัดอาหารในท้องตลาดที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่หากปล่อยให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารออกมากำหนดนโยบายกันเอง ที่ผ่านมาก็จะเห็นว่ามักจะไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่า

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนให้แต่ละประเทศมองว่ามาตรการใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ออกมาควบคุมการบริโภคโซเดียม เช่น หาวัตถุดิบหรือส่วนผสมอื่น ๆ ที่ใช้ทดแทนโซเดียมหรือเกลือ

โซเดียม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo