World News

‘อินโดนีเซีย’ ทุ่มลงทุน ‘รถยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี’ ดันอุตฯ พุ่งแรง

ทั้งภาครัฐ และเอกชน ของ “อินโดนีเซีย” กำลังให้ความสนใจในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี อย่างมาก ส่งผลให้ธุรกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว 

นอกจากจะได้แรงหนุนจากแหล่งแร่นิกเกิล ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และที่เกี่ยวข้อง ยังได้รับการสนับสนุน จากการที่รัฐบาลให้คำมั่นถึงการออกมาตรการจูงใจต่าง ๆ สำหรับยานยนต์ประเภทนี้ และการที่ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าแถวหน้าของโลก อย่าง บีวายดี ของจีน และเทสลา จากสหรัฐ พากันลงนามในข้อตกลง หรืออยู่ระหว่างการทำข้อตกลง เพื่อเข้าลงทุนในอินโดนีเซีย

บรรดาบริษัทต่าง ๆ หวังที่จะได้รับการสนับสนุนตามการผลักดันของรัฐบาล ที่จะนำนิกเกิลสำรองมาใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ รวมถึง การรุกเข้าสู่ตลาดซัพพลายเชนรถไฟฟ้า และพัฒนาฐานการผลิตขึ้นมา ทั้งจำนวนประชากรที่มีอยู่มากกว่า 270 ล้านคนนั้น ยังทำให้อินโดนีเซีย ยังมีศักยภาพเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วย

รถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี การรุกคืบเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ ยังมีอุปสรรคที่รอให้แก้ไขอยู่จำนวนหนึ่ง รวมถึง ความสามารถในการใช่จ่ายของผู้บริโภค การขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จไฟรถยนต์ไฟฟ้า และคำถามด้านธรรมาภิบาลเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ใกล้ชิด ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และบริษัทต่างๆ

จนถึงขณะนี้ ผู้เล่นที่แข็งแกร่งสุดในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า อินโดนีเซีย คือ “บากรี แอนด์ บราเธอร์ส” กลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจในหลายด้าน ไล่ตั้งแต่พลังงาน ไปจนถึง สาธารณูปโภคพื้นฐาน และโทรคมนาคม

เมื่อปีที่แล้ว วีเคทีอาร์ เทคโนโลยี โมบิลิตาส บริษัทลูกของ บากรี แอนด์ บราเธอร์ส ยังเป็นผู้จัดหารถโดยสารไฟฟ้า ของบีวายดี จำนวนหลายสิบคันให้กับ ทรานส์จาการ์ตา ผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ

อนินดา บากรี ประธานบริหาร บากรี แอนด์ บราเธอร์ส ระบุว่า หลังจากที่บริษัทมุ่งเน้นทำธุรกิจด้านเหล็ก สาธารณูปโภคพื้นฐาน และด้านอื่น ๆ มาร่วม 80 ปี จากนี้ไป 3 ธุรกิจที่บริษัทจะมุ่งความสนใจคือ การผลิตไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และดิจิทัล

รถยนต์ไฟฟ้า

ยักษ์เศรษฐกิจเก่า ไม่พลาดคว้าโอกาสใหม่ 

นอกจากบากรีแล้ว ยังมีบริษัทที่ถูกเรียกขานว่า บริษัทเศรษฐกิจเก่า ที่รับรู้ถึงโอกาสใหม่ล่าสุดนี้เช่นกัน

บริษัทเหมืองแร่ถ่านหินรายใหญ่ อย่าง อินดิกา เอนเนอร์จี อาดาโร เอนเนอร์จี และ ทีบีเอส เอเนอร์จี อุดามะ ที่ล้วนแต่ทำกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ จากราคาถ่านหินที่พุ่งสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต่างมองว่า ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า เป็นหนทางที่จะกระจายความเสี่ยง ท่ามกลางแรงกดดันในเรื่องภาวะโลกร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อิเลคทรา มอเตอร์ กรุ๊ป ในเครือ อินดิกา ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับ ดามอน มอเตอร์ เพื่อจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ของบริษัทสตาร์ทอัพแคนาดา ในตลาดอินโดนีเซีย

การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นหลังเมื่อปี 2565 อิเลคทรา ได้เปิดตัว “อัลวา วัน” แบรนด์รถสกูตเตอร์ไฟฟ้า คู่ขนานไปกับการที่บริษัทแม่อย่าง อินดิกา ร่วมลงทุนกับ ฟ็อกซ์คอนน์ ยักษ์เทคโนโลยีไต้หวัน ตั้งบริษัท “ฟ็อกซ์คอนน์ อินดิกา มอเตอร์” ขึ้นมาเพื่อผลิตแบตเตอรี และรถโดยสารไฟฟ้า

เช่นเดียวกับ ทีบีเอส ที่ร่วมทุนกับ โกเจ็ก ยักษ์ใหญ่ด้านบริการเดลิเวอรี จัดตั้งบริษัท อิเล็กทรัม ขึ้นมา เพื่อจัดหาสกูตเตอร์ไฟฟ้า 2 ล้านคัน ให้กับไรเดอร์ของโกเจ็ก ผ่านการจับมือเป็นพันธมิตรกับ โกโกโร ผู้ผลิตสกูตเตอร์ไฟฟ้าสัญชาติไต้หวัน และ จีซิทส์ บริษัทผลิตสกูตเตอร์ไฟฟ้าของรัฐบาลอินโดนีเซีย ทั้งยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตของตัวเองในปีนี้ด้วย

ขณะที่ อาดาโร ก็ได้จัดตั้ง “อาดาโร แบเตอไร อินโดนีเซีย” บริษัทลูกที่ทำธุรกิจด้านแบตเตอรี และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงถลุลอลูมิเนียมมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ และโรงงานผลิต ที่เกาะบอร์เนียว

รถยนต์ไฟฟ้า

มีทั้งข้อดี และข้อเสีย

ทางด้านนักวิเคราะห์ มองเห็นทั้งข้อดี และข้อเสียในความทะเยอทะยานด้านรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

วิเวก ลัธ หุ้นส่วนของบริษัทที่ปรึกษา แมคคินซีย์ ในสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่า อินโดนีเซียมีข้อได้เปรียบอย่างมาก ในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อพิจารณาถึงแหล่งแร่นิกเกิล และโครงการที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่

“เราคาดว่า ต่อจากนี้ไป อินโดนีเซียจะมีการเติบโต ทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่าของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก”

ก่อนหน้านี้ แมคคินซีย์ ระบุว่า แหล่งรายได้ของอินโดนีเซีย จากห่วงโซ่คุณค่าของรถยนต์ไฟฟ้า จะมีมูลค่าเกือบถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2578

แผนการออกมาตรการจูงใจของรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่รวมถึง มาตรการอุดหนุนเพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายรถไฟฟ้านั้น ยังก่อให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นมาอย่างมาก

นักวิจารณ์จำนวนหนึ่ง แย้งว่า มาตรการอุดหนุนของรัฐบาล ควรจะพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนฐานะยากจน แทนที่จะช่วยให้คนมีฐานะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งยังมีความกังวลถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ที่จุดชนวนให้เกิดการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มธุรกิจกับพรรคการเมืองด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo