World News

ผลสำรวจชี้ โลกล้มเหลว ‘ต้านคอร์รัปชัน’ 11 ปีต่อเนื่อง ‘ไทย’ ดีขึ้นเล็กน้อย

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต ประจำปี 2565 “เดนมาร์ก” ผงาดเบอร์ 1 ประเทศคอร์รัปชันน้อยสุดในโลก ขณะไทยกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับ 101 จากการสำรวจทั้งหมด 180 ประเทศ และดินแดนทั่วโลก

เดเลีย เฟอร์เรียรา รูบิโอ ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ระบุในรายงาน “ผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต” (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ว่า การคอร์รัปชันทำให้โลกเป็นสถานที่อันตรายมากขึ้น เพราะรัฐบาลล้มเหลวในการต่อต้าน พวกเขาเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์รุนแรง และความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้นในปัจจุบัน และเป็นอันตรายกับผู้คนในทุกหนทุกแห่น

คอร์รัปชัน

หนทางเดียวที่จะหลุดพ้นได้คือรัฐบาลจะต้องทำงานหนัก เพื่อขุดรากถอนโคนการทุจริตในทุกระดับ เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่แค่ชนชั้นนำบางคนเท่านั้น

รายงานพบว่า ค่าเฉลี่ย CPI อยู่ที่ระดับ 43 ไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลา 11 ปีแล้ว และราว 2 ใน 3 ของประเทศที่ได้รับการสำรวจ มีปัญหาการทุจริตอย่างรุนแรง ด้วยดัชนีที่ต่ำกว่า 50

ในปีนี้ เดนมาร์ก ครองอันดับ 1 โลก ด้วยคะแนน 90 คะแนน ตามมาด้วยฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ ที่มีคะแนน 87 คะแนนเท่ากัน นอร์เวย์อันดับ 4 ที่ 84 คะแนน โดยมีโซมาเลียได้อันดับสุดท้ายของโลก รองจากซีเรีย ซูดานใต้ เวเนซุเอลา และเยเมน

คอร์รัปชัน

ส่วนไทย มีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 35 คะแนน ในปี 2564 เป็น 36 คะแนนในปีนี้ ขยับขึ้นมาจากอันดับ 110 มาอยู่ในอันดับ 101 ของโลก โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (2555-2565) ไทยได้คะแนนราว 34-35 คะแนนมาโดยตลอด

ไทยยังอยู่ในอันดับที่ 4 ของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนดีที่สุดของกลุ่มคือสิงคโปร์ ที่มี 83 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก

คอร์รัปชัน

รายงานยังพบว่า อังกฤษ กาตาร์ กัวเตมาลา ได้รับคะแนนต่ำเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และยังจับตาสถานการณ์การคอร์รัปชันในบราซิล ศรีลังกา ยูเครน อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ในการจัดอันดับดังกล่าว องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งภายนอก 13 แหล่ง อาทิ ธนาคารโลก บริษัทที่ปรึกษาและประเมินความเสี่ยง และจากหน่วยงานคลังสมอง

การให้คะแนนเริ่มตั้งแต่ 0 คะแนน หมายถึง มีปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับสูง ไปจนถึง 100 คะแนน ซึ่งสะท้อนถึงความใสสะอาดในการทำงานของระบบการบริหารภาครัฐ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo