World News

เรื่องต้องรู้! เที่ยวประเทศไหน ต้องจ่าย ‘ทิป’ กันเท่าไร

การให้เงินเพื่อตอบแทนบริการที่น่าพอใจ หรือที่เรียกว่า ทิป เป็นธรรมเนียม ที่มีผู้ปฏิบัติทั่วโลก แต่ก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม และค่านิยมของแต่ละชาติ ในบางประเทศ การให้ทิปอาจถือเป็นการดูถูกเสียด้วยซ้ำ

แต่ละประเทศมีการคิดค่าธรรมเนียมในการทิปที่แตกต่างกัน เช่น ฝรั่งเศส มีกฎหมายให้ภัตตาคารสามารถบวกค่าบริการได้ แต่ในสหรัฐไม่บังคับ ทำให้รายได้ของพนักงานส่วนใหญ่ได้มาจากการทิป โดยได้รับเงินเดือนน้อยมาก

มาดูกันว่า ในประเทศที่นิยมให้ทิปจำนวนหนึ่งนั้น มีที่มาที่ไป และวิธีปฏิบัติอย่างไรบ้าง

ทิป

สหรัฐ

บีบีซี รายงานว่า การให้ทิปถูกนำเข้ามาในสหรัฐ ในช่วงศตวรรษ 19 เมื่อชาวอเมริกันที่ร่ำรวยเริ่มเดินทางไปยังยุโรป เริ่มแรกธรรมเนียมการให้ทิปไม่เป็นที่ยอมรับในสหรัฐฃฯ และคนที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า เป็นการต่อต้านประชาธิปไตย และกล่าวหาผู้ให้ทิปว่า ทำให้เกิดชนชั้นแรงงานที่ “ขอเงินจากการเอาอกเอาใจ”

จนถึงศตวรรษที่ 21 ก็ยังคงเห็นชาวอเมริกันถกกันเรื่องข้อดีและข้อเสียของการให้ทิปอยู่ แต่ปัจจุบันการให้ทิปกลายเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในจิตสำนึกของพวกเขาไปแล้ว โดยเงินที่ได้จากทิปเป็นส่วนสำคัญของค่าแรง

จีน

จีนก็เหมือนกับหลายชาติในเอเชีย ที่ไม่มีวัฒนธรรมการให้ทิป และจีนได้ห้ามการให้ทิปมานานหลายสิบปีแล้ว นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการติดสินบนด้วย จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่ค่อยมีการให้ทิปในประเทศจีน

โดยร้านอาหารที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนจีน ลูกค้าจะไม่ให้ทิป เว้นแต่เป็นร้านอาหารที่ให้บริการแก่ลูกค้าต่างชาติเป็นหลัก ส่วนโรงแรมที่มีแขกเป็นชาวต่างชาติมีเพียงการให้ทิปแก่คนช่วยถือกระเป๋าเท่านั้นที่เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ส่วนที่เป็นข้อยกเว้นคือ การให้ทิปแก่ไกด์นำเที่ยว และคนขับรถบัสนำเที่ยว สามารถทำได้

ทิป

ฝรั่งเศส

ในปี 2498 ฝรั่งเศสได้ผ่านกฎหมายที่กำหนดให้ร้านอาหารต่าง ๆ เพิ่มค่าบริการไว้ในใบเสร็จ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศทั่วยุโรปและหลายประเทศในโลกได้ทำตาม การทำเช่นนี้ เป็นการช่วยเพิ่มค่าแรงของพนักงานเสิร์ฟ และทำให้พวกเขาพึ่งทิปน้อยลง

อย่างไรก็ตาม การให้ทิปยังคงเป็นธรรมเนียม แม้การสำรวจจะพบว่า คนรุ่นใหม่ในฝรั่งเศสไม่ค่อยให้ทิป

แอฟริกาใต้

ในแอฟริกาใต้มีการให้ทิปเฉพาะงานบริการบางอย่างที่อาจจะไม่มีในประเทศอื่น ๆ นั่นก็คือ “การเฝ้ารถ” อาชีพที่ไม่เป็นทางการที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น

ลักษณะของงานนี้คือ การที่มีคนมาช่วยผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะหาจุดจอดรถ และคอยเฝ้ารถให้ ซึ่งการที่แอฟริกาใต้ มีอัตราการขโมยรถยนต์ในระดับสูง ทำให้การจ่ายเงิน ไม่ถึง 1 ดอลลาร์ เพื่อให้คนช่วยเฝ้ารถ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ในประเทศนี้ แต่ก็มีการถกเถียงกันถึงกระบวนการที่เกือบจะไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ มาควบคุม และไม่มีการรับประกันว่า ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการจะทำตามข้อตกลง

ทิป

สวิตเซอร์แลนด์

ว่ากันว่า ผู้คนในสวิตเซอร์แลนด์ มักจะปัดเศษขึ้นในการชำระค่าบริการ และมักจะให้ทิปแก่พนักงานโรงแรม หรือผู้ทำงานบริการอย่างช่างทำผม แต่สวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในโลก ทำให้พนักงาเหล่านี้ ไม่ได้พึ่งพาเงินจากทิปมากเหมือนพนักงานในสหรัฐ

อินเดีย

ร้านอาหารจำนวนมากในอินเดียเรียกเก็บค่าบริการในใบเสร็จ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องให้ทิปอีก แต่ถ้าจะให้ทิปก็อยู่ที่ประมาณ 7-10% การเห็นร้านอาหารแสดงป้ายไม่รับทิปถือเป็นเรื่องปกติในอินเดีย

อียิปต์

การให้ทิปเป็นเรื่องที่ฝังแน่นอยู่ในสังคมอียิปต์ และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “บักชีช” (baksheesh) คนร่ำรวยในอียิปต์มีการให้ทิปแก่คนทำงานบริการทุกประเภทเป็นประจำ ตั้งแต่พนักงานเสิร์ฟ ไปจนถึงพนักงานปั๊มน้ำมัน

การให้ทิปเป็นเรื่องที่ยอมรับในอียิปต์ซึ่งมีอัตราการว่างงานสู และการทำงานในภาคที่ไม่เป็นทางการมีส่วนสำคัญต่อจีดีพีเกือบ 40%

ทิป

รัสเซีย

ในสมัยสหภาพโซเวียต การให้ทิปเป็นเรื่องต้องห้ามในรัสเซีย ถือว่าเป็นการดูถูกคนชนชั้นแรงงาน แต่ชาวรัสเซียมีคำที่เรียกว่า “ค่าน้ำชา” (chayeviye) อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษ 2000 การให้ทิปกลับมาเป็นที่ยอมรับในรัสเซีย แต่ผู้สูงอายุอาจจะยังคงเห็นว่า การให้ทิปเป็นเรื่องไม่สมควรอยู่

อาร์เจนตินา

การให้ทิปพนักงานเสิร์ฟหลังจากรับประทานอาหาร ไม่ถือเป็นปัญหาในอาร์เจนตินา แม้ว่าจริง ๆ แล้ว การให้ทิปถือเป็นการทำผิดกฎหมาย ภายใต้กฎหมายแรงงานปี 2547  สำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมและจัดเลี้ยง แต่ก็ยังมีการให้ทิปกันอยํู่ดี และรายได้ของพนักงานเสิร์ฟอาจจะมาจากเงินที่ได้จากทิปในสัดส่วนสูงถึง 40%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo