World News

‘ท่องเที่ยวจีน’ ประโยชน์ที่มาพร้อมปัญหา

เมื่อราวทศวรรษที่แล้ว หมู่เกาะร็อคส์ ของปาเลา ถูกเรียกขานว่าเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวที่รักความสันโดษ มีนักท่องเที่ยวเพียงแค่ไม่กี่คนมาเดินป่า เพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติตามทะเลสาบต่างๆ และดำลึกลงไปในน้ำ เพื่อแหวกว่ายกับปลาหายาก

แต่ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อนักท่องเที่ยวจีนหลายร้อยคนเริ่มเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้

ท่องเที่ยวจีน

เอ็นกีไรเบลัส ทีเมทาเคิล ประธานสำนักงานนักท่องเที่ยวปาเลา บอกว่า ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวอาจจะต้องจ่ายเงินจำนวนมาก เพื่อได้ความเป็นส่วนตัว แต่ตอนนี้กลับต้องมาเจอกับคนเป็นจำนวนมาก

ประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็ต้องประสบภาวะที่ไม่ต่างกับปาเลามากนัก ซึ่งแม้นักท่องเที่ยวจีนจะนำเงินสดมาใช้จ่าย ที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชน แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หลั่งไหลเข้ามา ก็ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องสภาวะแวดล้อมมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่า รัฐบาลปักกิ่งเริ่มตระหนักแล้วว่า สามารถใช้นักเดินทางของตัวเอง เป็นเครื่องมือในการยกระดับทางการเมือง ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นวงกว้างในภูมิภาคนี้

ในกรณีของปาเลานั้น ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ แห่งนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามามากสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2558 ที่ 88,476 คน มากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ราว  21,500 คน

การทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยวเหล่านี้ ทำให้เกิดความกังวลว่า จะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้รัฐบาลต้องลดจำนวนเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากมาเก๊า และฮ่องกง ซึ่งขนนักท่องเที่ยวมาที่นี่มากสุด ลงมาครึ่งหนึ่ง

ท่องเที่ยวจีน

“ปาเลาเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีประชากรจำนวนน้อย และมีธรรมชาติที่เปราะบางอย่างมาก ไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้” ประธานาธิบดีทอมมี เรเมนจีซอ ผู้นำปาเลา กล่าว

“เราต้องการนักท่องเที่ยว ที่มาพักอยู่นานๆ เป็นนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายมากกว่านี้ และให้ความเคารพต่อธรรมชาติ”

เมื่อปีที่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังปาเลาลดลงไปราว 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อปี 2558  สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาล

แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงนี้ก็สร้างความเจ็บปวดให้เช่นกัน

แจ็คสัน เฮนรี ประธานสมาคมเศรษฐกิจปาเลา-จีน และการส่งเสริมทางสังคม กล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่ลดลงทำให้เรือท่องเที่ยวต้องลอยลำว่างงาน และโรงแรมก็มีแต่ห้องพักว่างๆ

“ใช่ สิ่งที่รัฐบาลทำช่วยคนบางกลุ่ม แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน”

เมื่อปีที่แล้วเศรษฐกิจปาเลาหดตัวลง 0.5%  หลัวจากที่เคยขยายตัวไปถึง 11.4% ในปี 2558

อำนาจใช้จ่ายนักท่องเที่ยวจีน

การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนนับได้ว่าเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล โดยข้อมูลจากองค์การท่องโลกแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ) แสดงให้เห็นว่า ในปี 2560    นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายเงินไป 258,000 ล้านดอลลาร์ทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 1ใน 5 ของยอดการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวโลก

ท่องเที่ยวจีน

ปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศทั้งหมด 130.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3 เท่า จากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

จุดหมายท่องเที่ยวหลักของนักท่องเที่ยวจากแดนมังกร รวมถึง ไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนอย่างหนัก เนื่องจากเป็นกลุ่มใหญ่สุดที่เดินทางเข้ามาในประเทศ สถานการณ์ที่ไม่ได้หลุดรอดไปจากสายตาของกรุงปักกิ่ง

ในการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนได้ควบรวมกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแห่งชาติจีนเข้าไว้ด้วยกัน เป็นกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว

วูลฟ์กัง กีออร์ก อัลท์ ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยการท่องเที่ยวต่างประเทศจีน แสดงความเห็นว่า การจัดตั้งกระทรวงใหม่ดังกล่าว เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวในสายตาของรัฐบาลจีน

“การเคลื่อนไหวนี้ เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยว ในฐานะเครื่องมือด้านอำนาจอ่อน และโอกาสที่จะเพิ่มอิทธิพลด้านวัฒนธรรมของจีน”

อิทธิพลฝังลึก

ไม่ว่าที่ใดในเอเชีย ที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปถึง ที่นั่นก็จะได้รับอิทธิพลจีนฝังรากลึกลงไปมากขึ้น

“บางครั้งผมก็รู้สึกเหมือนกับว่า กำลังเดินอยู่ในเมืองสักเมืองที่ประเทศจีน เพราะมีสัญลักษณ์ และป้ายโฆษณาจำนวนมากที่เขียนเป็นภาษาจีน แถมยังมีร้านค้าอีกหลายร้านที่รับเฉพาะคนจีนเท่านั้น” จุง บุย ชาวเมืองฮาลอง ในจ. กว๋างนินห์ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเวียดนามกล่าว

000 NX8ER

เมืองแห่งนี้เป็นที่ตั้งของอ่าวฮาลอง สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง ที่มีสถานะเป็นมรดกโลก และมีชายแดนติดต่อกับจีน ซึ่งในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเยือนโดยเฉลี่ย 10,000 คน

ข้อมูลจากสำนักงานท่าเรือน้ำจืดกว๋างนินห์ แสดงให้เห็นว่า ราว 70% ของผู้โดยสารในเรือ 600 ลำที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการในอ่าวฮาลอง ช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 เป็นชาวจีนทั้งหมด

สถานการณ์ในอินโดนีเซียก็คล้ายคลึงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเวียดนาม โดยอินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 14% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 14 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นถึง 16 เท่าจากเมื่อทศวรรษที่แล้ว และมากกว่า 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวจีนเหล่านี้ มุ่งตรงไปยังบาหลี

ร้านอาหารเกือบทุกร้านในบาหลีทุกวันนี้ มีการนำเสนอเมนูภาษาจีน ขณะที่ร้านอาหารจีนก็ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดทั่วทั้งเกาะ และเกือบทุกร้านจะมีที่จอดรถขนาดใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถบัสนักท่องเที่ยว  ทั้งยังถือเป็นเรื่องที่เกือบธรรมดาไปแล้ว ที่จะเจอพนักงานตามร้านต่างๆ ที่พูดภาษาจีนกลางได้

สาเหตุปิดฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่ง ยังประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแบบเดียวกับปาเลา และมองเห็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมสำคัญกว่าประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ท่องเที่ยวจีน

เมื่อไม่นานมานี้ จ.กระบี่ ของไทย ได้ตัดสินใจที่จะปิดอ่าวมาหยานาน 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก

ในแต่ละวัน อ่าวมาหยา ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นสถานที่ทำถ่ายภาพยนตร์เรื่อง “The Beach” ที่มีดาราฮอลลีวูดชื่อดัง “ลีโอนาร์ดด ดิคาปริโอ” เป็นนักแสดงนำนั้น มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนมากถึงเกือบวันละ 5,000 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นชี้ว่า ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน

นอกจากนี้  ยังมีการหารือถึงการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหลือเพียง 2,000 คนต่อวันเท่านั้น

เช่นเดียวกับที่ฟิลิปปินส์ ที่ทางการเพิ่งปิดเกาะโบราไกย์ นาน 6 เดือน เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ผู้นำแดนตากาล็อกอธิบายสภาพน้ำทะเลของแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังแห่งนี้ว่าเหมือน “ส้วมซึม” พร้อมกล่าวหาภาคธุรกิจว่า ทิ้งของเสียลงทะเล

ดูเตอร์เตยังสั่งยุติโครงการก่อสร้างรีสอร์ทมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์  ที่เลเชอร์ แอนด์ รีสอร์ทส์ เวิลด์ บริษัทท้องถิ่น ร่วมลงทุนกับกาแล็กซี เอนเตอร์เทนเมนท์ กรุ๊ป จากมาเก๊า

เมื่อปีที่แล้ว โบราไกย์ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นถึง 37% ที่ 375,284 คน แซงหน้าเกาหลีใต้ ที่เคยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรก โดยนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนราว 38% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมายังเกาะแห่งนี้

ท่องเที่ยวโยงการเมือง

อย่างไรก็ดี ระบบนิเวศไม่ได้เป็นปัญหาเดียวที่สร้างความกังวลให้กับประเทศต่างๆ โดยมีรัฐบาลบางประเทศที่รู้สึกวิตกว่า รัฐบาลจีนจะใช้อำนาจอ่อนด้วยพฤติกรรมที่ไม่อ่อนแต่อย่างใด ซึ่งเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับบทเรียนในเรื่องนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลโซล และกรุงปักกิ่งตกอยู่ในภาวะตึงเครียดเมื่อเดือนมีนาคม 2560 จากการที่เกาหลีใต้ตัดสินใจติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธสหรัฐ จนมีรายงานข่าวออกมาว่า รัฐบาลจีนได้มีคำสั่งถึงบริษัทท่องเที่ยวในประเทศ ห้ามขายทัวร์มายังเกาหลีใต้

ในปี 2560 เกาหลีใต้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศโดยรวมร่วงลง 22.7% มาอยู่ที่ 13.3 ล้านคน  โดยนักท่องเที่ยวจีน ที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของยอดรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ลดลงไปถึง 48%  ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมบริการท้องถิ่น

ท่องเที่ยวจีน

เวียดนามเองก็เคยเจอประสบการณ์แบบเดียวกันนี้มาแล้วในปี 2557 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศถดถอยลง หลังจากที่จีนติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำที่มีข้อพิพาทกันอยู่ในทะเลจีนใต้ ซึ่งในปีนั้น นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเวียดนามลดลงไป 8%

ชาติเอเชียทบทวนนโยบายท่องเที่ยว 

สถานการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเชีย พากันทบทวนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของตัวเอง พร้อมมองหาตลาดทางเลือกใหม่  เช่น ประธานาธิบดีมูน แจ อิน ของเกาหลีใต้ ที่ผลักดัน “นโยบายตอนใต้ใหม่” พุ่งเป้าไปที่การดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการเมืองกับภูมิภาคนี้

ท่องเที่ยวจีน

ขณะเดียวกัน ไทยก็ได้มีการดำเนินมาตรการเพื่อกวาดล้าง “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”  วิธีการทำธุรกิจที่ผู้ให้บริการนำเสนอทัวร์ราคาถูก แต่กดดันให้ลูกค้าเข้าไปยังร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึกที่กำหนดไว้แล้ว ซึ่งกำไรส่วนใหญ่จากทัวร์ประเภทนี้ จะไหลเข้าไปอยู่ในมือของบริษัทท่องเที่ยว และเจ้าของร้านที่เป็นชาวจีน

กระนั้นก็ตาม มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธได้ โดยเมื่อปีที่แล้ว รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนราว 12% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย

ทอม เลมบอง ประธานคณะกรรมการความร่วมมือด้านการลงทุน ของอินโดนีเซีย แสดงความเห็นว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับกลยุทธ์การลงทุน การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจ ที่ไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย

รายงานของนีลเส็น เกี่ยวกับแนวโน้มการบริโภค และท่องเที่ยวของชาวจีนในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวจีนแต่ละราย มีการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยมากกว่า 3,000 ดอลลาร์ โดยในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวต่างๆ ของเอเชียนั้น นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 3,007 ดอลลาร์ในเกาหลีใต้ 2,971 ดอลลาร์ที่สิงคโปร์ และ 2,952 ดอลลาร์ในญี่ปุ่น

ที่มา: Nikkei Asian Review

ฟิลิปปินส์จ่อลดเวลาปิดโบราไกย์

‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ มาพร้อมความกังวล

ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนก.พ.แตะ 3.56 ล้านคน

“แท็กซี่ – แมคโดนัลด์” จับมืออาลีเพย์หวังตอบโจทย์นักท่องเที่ยวจีน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight