การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีการบรรลุข้อตกลงเพื่อควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
COP26 ถือเป็นการประชุมสำคัญระดับโลก ที่จะนำประโยชน์มาสู่มนุษยชาติ ภายใต้ความร่วมมือของประชาคมระหว่างประเทศที่จะร่วมกันปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และแข็งขัน ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
COP ย่อมาจาก “Conference of the Parties” หรืออาจแปลได้ว่าการประชุมสมัชชาประเทศ และนี่เป็นการประชุมสุดยอดประจำปีครั้งที่ 26 และในการประชุมครั้งนี้ 200 ประเทศมีพันธสัญญา ที่จะต้องยื่นแผนการลดการปล่อยคาร์บอนภายในปี 2030
ภายใต้ข้อตกลงปารีสปี 2015 ประเทศต่าง ๆ ถูกขอให้สร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส และให้พยายามตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อที่จะป้องกันหายนะภัยทางด้านสภาพภูมิอากาศ
เป้าหมายคือการตัดลดการปล่อยคาร์บอนจนกระทั่งถึงเป้าหมายเป็นศูนย์ภายในปี 2050
ในส่วนของประเทศไทยนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ท่ามกลางผู้นำโลกที่เข้าร่วม และได้ประกาศเจตนารมณ์ของไทย พร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง ย้ำต้องหยุดทำร้ายธรรมชาติเพราะไม่มีโลกใบที่สองเหมือนโลกนี้อีกแล้ว
ที่สำคัญทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือ ขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อหยุดยั้ง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลก เพราะทุก ๆ 1องศาที่เพิ่มขึ้น คือ มหันตภัยรายที่โลกต้องเผชิญ
https://www.youtube.com/watch?v=pjux1O2cwEg
เปิดข้อตกลง COP26
ข้อตกลงนี้ขอให้ประเทศต่าง ๆ ตีพิมพ์แผนปฏิบัติการภายในสิ้นปีหน้า โดยที่มีเป้าหมายสูงขึ้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030
ถ้อยคำในข้อตกลงฉบับนี้ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องเพิ่มเงินช่วยเหลือแก่ประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สูงกว่าเป้าหมายปัจจุบันที่ 100,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยประเทศเหล่านี้ในการปรับตัวและรับมือ
แม้ข้อตกลงนี้จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็เป็นการกำหนดแนวทาง และเป้าหมายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิในช่วง 10 ปีข้างหน้า
อ่านข่าวเพิ่มเติม