Videos

บทสรุปบทบาท ‘ไทย’ บนเวที ‘COP26’ มุ่งมั่นขับเคลื่อนแก้ปัญหา ‘โลกร้อน’

ประเทศไทย ในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เข้าร่วมการประชุม สมัยที่ 26 หรือ cop26 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม-12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมือง กลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

ไทยได้แสดงความมุ่งมั่น ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และหารือเพื่อนำไปสู่ข้อตัดสินใจร่วมกัน ทั้งในระดับการเมือง และกำหนดแนวทาง นโยบาย มาตรการ และกลไกการดำเนินงานในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

สำหรับการดำเนินงานของประเทศไทยที่ผ่านมา ไทยกำหนดเป้าหมาย NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Action) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในภาคพลังงาน และขนส่งอย่างน้อย 7% ภายในปี 2563

แต่ในปี 2562 ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 17% เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า และก่อนเวลาที่ได้กำหนดเป็นเป้าหมายไว้ด้วยมากกว่า 1 ปี

อีกทั้ง ไทยยังเป็นประเทศแรก ๆ ที่จัดส่ง NDC ฉบับปรับปรุงปี 2563 จัดทำแผนงานต่าง ๆ ในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ทั้งยังจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้กับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ซึ่งแสดงอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์ที่จริงจังของประเทศไทย ที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของโลกในเรื่องนี้

cop26

ถ่ายทอดความมุ่งมั่นแก้โลกร้อน บนเวที COP26

ความมุ่งมั่นของประเทศไทย ได้ถูกถ่ายทอดภายใต้วิสัยทัศน์การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลไทย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ยังได้เข้าหารือทวิภาคี ร่วมกับ สมาพันธรัฐสวิส เพื่อพัฒนาความร่วมมือในประเด็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก

cop26

ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี หรือ GIZ จะจัดงาน Cop26 Debrief อนาคตโลก อนาคตไทย ณ ห้องบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo